กะทังหันใบเล็ก

Calophyllum pisiferum Planch. & Triana

ชื่ออื่น ๆ
ปะอง (สุรินทร์)
ไม้ต้น เปลือกสีเทา เทาอมเหลือง หรือเหลืองอ่อน มีรอยแตกเล็ก ๆ ตามยาว ใบเรียงตรงข้าม รูปรี รูปรีแกมรูปขอบขนาน รูปไข่ หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามง่ามใบ ดอกสีขาว กลิ่นหอม ผลแบบผลเมล็ดเดียวแข็ง กลมหรือรูปไข่ ผลสุกสีน้ำตาล เมื่อแห้งมีรอยย่นทั่วไป

กะทั้งหันใบเล็กเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๓๐ ม. เปลือกสีเทา เทาอมเหลือง หรือเหลืองอ่อน มีรอยแตกเล็ก ๆ ตามยาวและมีช่องอากาศกระจัดกระจาย เมื่อสับเปลือกจะมียางสีเหลืองซึมออกมา กิ่งแบน เป็นสี่เหลี่ยม กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาล

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรี รูปรีแกมรูปขอบขนานรูปไข่ หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง ๑-๓.๒ ซม. ยาว ๒.๕-๙.๒ ซม. ปลายแหลมหรือมน โคนสอบคล้ายรูปลิ่ม ขอบเรียบแต่ย่นเป็นคลื่นห่าง ๆ เส้นแขนงใบตรง ขนานและเรียงถี่ชิดติดกันจำนวนมาก แผ่นใบหนา เมื่อแห้งด้านบนสีเขียวมะกอกด้านล่างสีน้ำตาล ก้านใบยาว ๒-๕ มม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามง่ามใบ ยาว ๐.๙-๓.๕ ซม. ไม่แตกแขนง มี ๕-๑๕ ดอก ดอกสีขาว กลิ่นหอม ก้านดอกยาว ๐.๓-๑.๒ ซม. กลีบเลี้ยง ๔ กลีบ ไม่มีกลีบดอกเกสรเพศผู้มีจำนวนมาก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มแผ่กว้าง

 ผลแบบผลเมล็ดเดียวแข็ง กลมหรือรูปไข่ กว้าง ๕-๗ มม. ยาว ๖-๙ มม. ปลายผลมีติ่งแหลม ผลสุกสีน้ำตาล ผิวเรียบ แต่เมื่อแห้งมีรอยย่นทั่วไป มี ๑ เมล็ด

 กะทังหันใบเล็กมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคตะวันออก ขึ้นตามริมลำธารใน


ป่าดิบ บนพื้นที่ที่ไม่สูงจากระดับน้ำทะเลมากนัก ในต่างประเทศพบที่พม่า กัมพูชา มาเลเซีย เกาะสุมาตราและเกาะบอร์เนียว.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กะทังหันใบเล็ก
ชื่อวิทยาศาสตร์
Calophyllum pisiferum Planch. & Triana
ชื่ออื่น ๆ
ปะอง (สุรินทร์)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.ธวัชชัย สันติสุข