กะทังหัน

Calophyllum thorelii Pierre

ชื่ออื่น ๆ
พะอง (เลย)
ไม้ต้น กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม ทุกส่วนมียางเหนียวสีเหลืองมีช่องอากาศทั่วไป ปลายกิ่งมีตาคล้ายรูปพีระมิด ใบเรียงตรงข้าม รูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามปลายกิ่ง ดอกสีขาว ผลแบบผลเมล็ดเดียวแข็ง รูปไข่ มีเนื้อหุ้ม สีเขียวมีนวล เมื่อแห้งสีน้ำตาลอมม่วง

กะทังหันเป็นต้น สูงได้ถึง ๓๕ ม. ลำต้นเปลา เรือนยอดเป็นพุ่มกลม เปลือกสีเทาอมชมพู แตกเป็นร่องตามยาว มียางสีเหลืองซึมออกมาแห้งติดตามเปลือก กิ่งเป็นเหลี่ยม ค่อนข้างแบน มีช่องอากาศกระจายอยู่ห่าง ๆ กิ่งอ่อนมีเกล็ดสีน้ำตาลอมเหลือง กิ่งแก่เกลี้ยง ระหว่างง่ามของคู่ใบตามปลายกิ่งมีตาคล้ายรูปพีระมิด ยาวประมาณ ๒ มม. มีขนสีน้ำตาลอมเหลือง

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรี กว้าง ๓-๕.๕ ซม. ยาว ๘-๑๗ ซม. ปลายและโคนแหลม ขอบเรียบแต่เป็นคลื่นชัดเจน เส้นแขนงใบตรง ขนานและเรียงถี่ชิดติดกันจำนวนมาก เส้นกลางใบด้านบนเป็นร่องจนถึงประมาณกึ่งกลางใบ แผ่นใบหนา ใบแห้งด้านบนสีเทาแกมสีมะกอก เป็นมัน ด้านล่างสีน้ำตาลอ่อน ก้านใบยาว ๑.๘-๓.๓ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามปลายกิ่ง ยาว ๙-๑๒ ซม. แตกแขนงเล็กน้อย มีเกล็ดสีน้ำตาลอมเหลืองทั่วไป ดอกมีจำนวนมาก สีขาว กลิ่นหอม ก้านดอกยาว ๐.๗-๑.๕ ซม. กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ ๔-๕ กลีบ ยาว ๐.๖-๑.๑ ซม. มีเกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านชูอับเรณูเป็นฝอย ออกแน่นเป็นกระจุกตรงกลางดอกคลุมรังไข่มิด รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด

 ผลแบบเมล็ดเดียวแข็ง มีเนื้อหุ้ม รูปไข่ กว้าง ๑.๑-๑.๘ ซม. ยาว ๒-๓ ซม. สีเขียว มีนวล เมื่อแห้งเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอมม่วง ผิวย่น มีเมล็ดแข็งรูปกระสวย ๑ เมล็ด ยาว ๑.๖-๒.๕ ซม.

 กะทั้งหันมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยตามป่าดิบและเชิงเขาทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ และพื้นที่บนภูเขาทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคอินโดจีน

 เนื้อไม้ใช้ทำพื้น ฝา เสาบ้าน และเสากระโดงเรือไต้.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กะทังหัน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Calophyllum thorelii Pierre
ชื่อสกุล
Calophyllum
คำระบุชนิด
thorelii
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Pierre, Jean Baptiste Louis
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1833-1905)
ชื่ออื่น ๆ
พะอง (เลย)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.ธวัชชัย สันติสุข