กะตังใบ

Leea rubra Blume ex Spreng.

ชื่ออื่น ๆ
กะตังใบแดง, เขือง, บังใบ
ไม้พุ่ม ใบประกอบแบบขนนกสองถึงสามชั้น เรียงสลับใบย่อยรูปไข่หรือรูปขอบขนาน หูใบลักษณะคล้ายปีก ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ดอกและก้านช่อดอกสีแดงสด ผลกลมด้านบนแบน

 กะตังใบชนิดนี้เป็นไม้พุ่ม สูงไม่เกิน ๓ ม.

 ใบประกอบแบบขนนกสองถึงสามชั้น เรียงสลับ แกนกลางยาว ๒-๒๕ ซม. ก้านใบประกอบยาว ๒-๘ ซม. หูใบลักษณะคล้ายปีก กว้าง ๓-๕ มม. ยาว ๒-๔ ซม. ใบย่อยรูปไข่หรือรูปขอบขนาน กว้าง ๑.๕-๖ ซม. ยาว ๒-๑๒ ซม. ปลายแหลม ก้านใบย่อยยาว ๐.๒-๑ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ยาว ๘-๑๔ ซม. ดอกและก้านช่อดอกสีแดงสด กลีบเลี้ยงติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก กลีบดอกโคนติดกัน ด้านในติดกับส่วนของเกสรเพศผู้ ปลายแยกเป็นแฉกรูปไข่ ๕ แฉก เกสรเพศผู้ ๕ อัน รังไข่มี ๖ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด

 ผลกลม ด้านบนแบน กว้าง ๐.๘-๑ ซม.

 กะตังใบชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบที่ชายป่าและเชิงเขา บนพื้นที่ระดับน้ำทะเลไปจนถึงสูงประมาณ ๓๐๐ ม. ในต่างประเทศพบขึ้นกระจายทั่วไปเช่นเดียวกับกะตังใบชนิดแรก

 ในภูมิภาคอินโดจีนใช้รากแก้ไข้และอาการปวดท้อง ผลใช้เป็นยาขับพยาธิตัวตืด (Perry and Metzger, 1980) แต่ทำให้เกิดอาการเมา ไทยใช้กะตังใบชนิดนี้เช่นเดียวกันกับชนิดแรก.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กะตังใบ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Leea rubra Blume ex Spreng.
ชื่อสกุล
Leea
คำระบุชนิด
rubra
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Blume, Carl (Karl) Ludwig von
- Sprengel, Curt (Kurt, Curtius) Polycarp Joachim
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Blume, Carl (Karl) Ludwig von (1796-1862)
- Sprengel, Curt (Kurt, Curtius) Polycarp Joachim (1766-1833)
ชื่ออื่น ๆ
กะตังใบแดง, เขือง, บังใบ
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์