กะตังใบ

Leea indica (Burm.f.) Merr.

ชื่ออื่น ๆ
คะนางใบ, ช้างเชิง, ตองส้วม, ตองต้อม, บังบายต้น
ไม้พุ่มหรือไม้ต้น ใบประกอบแบบขนนกสองถึงสามชั้น เรียงสลับ ใบย่อยรูปรี รูปไข่ หรือรูปขอบขนาน หูใบรูปไข่กลับร่วงง่าย ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ดอกสีขาวอมเขียวหรือ ขาวอมเหลือง ผลกลม ด้านบนแบน

 กะตังใบชนิดนี้เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูง ๒-๑๐ ม. ลำต้นค่อนข้างเกลี้ยงหรือมีขนบ้างเล็กน้อย

 ใบประกอบแบบขนนกสองถึงสามชั้น ขนาดใหญ่ เรียงสลับ แกนกลางยาว ๑๐-๓๐ ซม. ก้านใบประกอบยาว ๑๐-๒๕ ซม. หูใบรูปไข่กลับ กว้าง ๒-๔ ซม. ยาวได้ถึง ๖ ซม. เห็นชัดเจนขณะใบยังอ่อน และร่วงง่ายเมื่อใบแก่เหลือไว้เฉพาะรอยแผลรูปสามเหลี่ยม ใบย่อยรูปรี รูปไข่ หรือรูปขอบขนาน กว้าง ๓-๑๒ ซม. ยาว ๘-๒๔ ซม. ปลายแหลมโคนสอบเล็กน้อยหรือมน ขอบจักแหลม แผ่นใบเกลี้ยงหรือมีขนเล็กน้อย เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๑๖ เส้น ก้านใบย่อยยาวไม่เกิน ๒.๕ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ยาว ๑๐-๒๕ ซม. ดอกเล็กสีขาวอมเขียวหรือขาวอมเหลือง กลีบเลี้ยงติดกันเป็นรูปถ้วยปลายแยกเป็น ๕ แฉก กลีบดอกส่วนล่างติดกัน ด้านในเชื่อมติดกับส่วนของเกสรเพศผู้ ส่วนบนแยกเป็นแฉกเรียว ๕ แฉก เกสรเพศผู้ ๕ อัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๖ ช่อง แต่ละช่อง มีออวุล ๑ เม็ด

 ผลกลม ด้านบนแบน กว้าง ๐.๕-๑ ซม. เมล็ดรูปไข่

 กะตังใบชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นตามป่าดิบและป่าผลัดใบ บนพื้นที่ระดับน้ำทะเลจนถึงสูงประมาณ ๑,๔๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เนปาล บังกลาเทศ พม่า ภูมิภาคอินโดจีน ภูมิภาคมาเลเซีย จนถึงออสเตรเลียและฟิจิ

 ในมาเลเซียใช้แก้อาการคันตามผิวหนัง อินโดนีเซียใช้พอกศีรษะแก้ไข้ (Burkill, 1966) อินเดียใช้ใบแก้เวียนศีรษะ

 รากแก้บิดและท้องร่วง (Thacker ed., 1962) ไทยใช้รากเป็นยาขับเหงื่อ ระงับความร้อน แก้ไข้ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดเมื่อย ตามร่างกาย (โรงเรียนแพทย์แผนโบราณ วัดพระเชตุพนฯ, ๒๕๒๑)

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กะตังใบ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Leea indica (Burm.f.) Merr.
ชื่อสกุล
Leea
คำระบุชนิด
indica
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Burman, Nicolaas Laurens (Nicolaus Laurent)
- Merrill, Elmer Drew
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Burman, Nicolaas Laurens (Nicolaus Laurent) (1734-1793)
- Merrill, Elmer Drew (1876-1956)
ชื่ออื่น ๆ
คะนางใบ, ช้างเชิง, ตองส้วม, ตองต้อม, บังบายต้น
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์