กะฉอดไข่

Cheilanthes belangeri (Bory) C.Chr.

ชื่ออื่น ๆ
กูดหงอด
เฟิร์นขึ้นบนดิน เหง้าสั้น ใบประกอบแบบขนนกหนึ่งถึงสองชั้น ใบย่อยคู่ล่างสุดใหญ่ที่สุด รูปขอบขนานถึงรูปคล้ายสามเหลี่ยม กลุ่มอับสปอร์เรียงตัวขนานกับขอบใบ เว้นเป็นช่วง ๆ ขอบใบพับมาคลุมกลุ่มอับสปอร์

กะฉอดไข่เป็นเฟิร์น เหง้าสั้น ตั้งตรง มีเกล็ดสีน้ำตาลเป็นมัน ยาว ๒-๓ มม.

 ใบออกรวมกันเป็นกระจุก ตอนล่างเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ตอนบนขอบใบย่อยหยักเว้าจนเกือบแยกเป็นใบประกอบแบบขนนก แผ่นใบกว้าง ๓-๔ ซม. ยาว ๑๐-๓๐ ซม. ก้านใบยาว ๘-๑๕ ซม. สีม่วงแดงถึงดำเป็นมัน มีร่องทางด้านบน โคนก้านใบมีเกล็ดประปราย

 ใบย่อยชั้นที่ ๑ มีได้มากกว่า ๑๕ คู่ แต่ละคู่จะเว้นช่วงพอเหมาะไม่เหลื่อมทับกัน ใบย่อยคู่ล่างสุดใหญ่ที่สุด กว้างประมาณ ๒ ซม. ยาวประมาณ ๔ ซม. รูปขอบขนานกี่งรูปคล้ายสามเหลี่ยม ปลายเรียวแหลม โคนสอบ มีก้านใบสั้น ๆ ในใบที่อยู่ตอนล่างใบย่อยตอนกลางรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก กว้าง ๐.๕-๑ ซม. ยาว ๑-๒.๕ ซม.

 ใบย่อยชั้นที่ ๒ รูปขอบขนาน ปลายมนและมีหยักเว้าไม่แน่นอน โคนเฉียงกึ่งตัดหรือสอบป้าน แผ่นใบสีเขียวอมเหลืองบาง เส้นใบเห็นไม่ชัด เป็นแบบอิสระ และแยกสาขาเป็นคู่หลายครั้งในส่วนที่เว้าหรือในใบย่อยชั้นที่ ๒ ที่มีขนาดใหญ่กลุ่มอับสปอร์เรียงตัวทางด้านข้างของส่วนที่เว้าหรือขอบใบย่อยชั้นที่ ๒ เรียงขนานกับขอบใบแต่ขาดเป็นช่วง ๆ ตามรอยหยักเว้าของใบ เมื่อใบยังอ่อนมีเยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์ ซึ่งเกิดจากขอบใบพับมาคลุมกลุ่มอับสปอร์เอาไว้

 กะฉอดไข่มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นบนพื้นดินตามทางเดินหรือบนก้อนหินที่ชื้น ในบริเวณค่อนข้างร่มถึงกลางแจ้ง ในต่างประเทศพบทางตอนเหนือของอินเดีย จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซีย และฟิลิปปินส์.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กะฉอดไข่
ชื่อวิทยาศาสตร์
Cheilanthes belangeri (Bory) C.Chr.
ชื่อสกุล
Cheilanthes
คำระบุชนิด
belangeri
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Bory, Jean Baptiste Georges Geneviève Marcellin
- Christensen, Carl Frederik Albert
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Bory, Jean Baptiste Georges Geneviève Marcellin (1778-1846)
- Christensen, Carl Frederik Albert (1872-1942)
ชื่ออื่น ๆ
กูดหงอด
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.ทวีศักดิ์ บุญเกิด