กะฉอดแรด

Tectaria rockii C.Chr.

เฟิร์นขึ้นบนหิน เหง้าสั้น ใบประกอบแบบขนนกหนึ่งถึงสองชั้น ใบย่อยคู่ล่างสุดใหญ่ที่สุด รูปคล้ายสามเหลี่ยม กลุ่มอับสปอร์กลม เมื่อคลุมมีขน

กะฉอดแรกเป็นเฟิร์น เหง้าสั้น มักเจริญในแนวโค้งจากพื้นดินก่อนเล็กน้อยแล้วจึงตั้งตรง มีเกล็ดทั่วไป เกล็ดสีน้ำตาลเข้มจนถึงเกือบดำ รูปแถบหรือรูปคล้ายสามเหลี่ยม แข็ง กว้าง ประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๑.๕ ซม.

 ใบประกอบแบบขนนก ตอนล่างเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น แผ่นใบกว้างและยาวประมาณ ๕๐ ซม. รูปคล้ายสามเหลี่ยม ก้านใบยาวได้ถึง ๘๐ ซม. สีน้ำตาลหรือน้ำตาลแดงมีร่องตามยาว โคนก้านใบมีเกล็ดและขนเล็ก ๆ ทั่วไป แกนกลางสีน้ำตาลเป็นมัน มีขนนุ่มสั้น ๆ หนาแน่น

 ใบย่อยมี ๓-๕ คู่ ใบย่อยคู่ล่างใหญ่ที่สุด กว้างประมาณ ๓๐ ซม. ยาวประมาณ ๔๐ ซม. รูปคล้ายสามเหลี่ยมด้านไม่เท่า โคนใบย่อยเว้าลึก ใบย่อยที่ปลายสุดรูปคล้ายสามเหลี่ยมปลายเรียวแหลม โคนสอบ ขอบเว้า แกนกลางและเส้นกลางใบย่อยมีขนทั้ง ๒ ด้าน

 ใบย่อยชั้นที่ ๒ มีก้านสั้น ๆ หรือไม่มี ขอบหยักมนถึงเว้า กว้างประมาณ ๖ ซม. ยาวประมาณ ๒๐ ซม. แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีจางกว่า เส้นใบเป็นร่างแห เห็นได้ชัดทางด้านล่างซึ่งมีขน กลุ่มอับสปอร์กลม สีน้ำตาลเข้มกระจายทั่วไปทางด้านล่างของแผ่นใบ เยื่อหุ้มกลุ่มอับสปอร์มีขนเล็ก ๆ ซึ่งอาจจะร่วงไปเมื่อใบแก่

 กะฉอดแรดมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค เว้นภาคใต้ ขึ้นตามไหล่เขาบนพื้นที่สูง ๑๕๐-๑,๒๐๐ ม. บริเวณที่ร่มในป่าดิบและป่าผลัดใบ ในต่างประเทศพบที่พม่าและภูมิภาคอินโดจีน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กะฉอดแรด
ชื่อวิทยาศาสตร์
Tectaria rockii C.Chr.
ชื่อสกุล
Tectaria
คำระบุชนิด
rockii
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Christensen, Carl Frederik Albert
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1872-1942)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.ทวีศักดิ์ บุญเกิด