กอมขม

Picrasma javanica Blume

ชื่ออื่น ๆ
กรอสะนาสมูล (เขมร-ตะวันออกเฉียงใต้); กะลำเพาะต้น, ไม้หอมตัวผู้, หมาชล (ตะวันออกเฉียงใต้); ก้ามกุ้งต้
ไม้ต้น ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับ หูใบเป็นแผ่นกลม ใบย่อยรูปรี ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ดอกแยกเพศสีเหลือง ผลเป็นผลกลุ่ม ผลย่อยกลม มีเนื้อหุ้ม สุกสีดำ

กอมขมเป็นไม้ต้น สูง ๘-๑๕ ม. เปลือกสีเทาหรือเทาอมน้ำตาล เรียบหรือแตกเป็นร่องขรุขระเล็กน้อย

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับ แกนกลางยาว ๔-๑๒ ซม. ก้านใบประกอบยาว ๒.๕-๕ ซม. มีใบย่อย ๑-๓ คู่ เรียงตรงข้าม รูปรี รูปรีแกมรูปขอบขนาน รูปไข่ หรือรูปไข่แกมรี กว้าง ๒.๒-๖ ซม. ยาว ๔-๑๕ ซม. ปลายแหลมยาวโคนสอบ ขอบเรียบ ย่นเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีจางกว่า ก้านใบย่อยยาว ๒-๗ มม. หูใบขนาดใหญ่ เป็นแผ่นกลม กว้าง ๐.๕-๒ ซม. ยาว ๐.๗-๒.๕ ซม. มีเส้นใบปรากฏชัด ร่วงง่าย

 ดอกแยกเพศร่วมต้น ออกเป็นช่อแยกแขนงตามง่ามใบ ยาว ๕-๒๐ ซม. มีดอกจำนวนมาก ดอกเพศเมียใหญ่กว่าดอกเพศผู้ประมาณ ๒ เท่า ก้านดอกยาว ๐.๖-๑ ซม. กลีบเลี้ยง ๔ กลีบ แยกกัน รูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ ๑ มม. กลีบดอก ๔ กลีบ สีเหลือง รูปไข่แกมรูปขอบขนาน ขอบกลีบงอเข้าหากันเป็นกระพุ้งเล็กน้อย เกสรเพศผู้ ๔ อัน ยาวกว่ากลีบดอกเพศผู้ แต่สั้นกว่ากลีบดอกเพศเมีย อับเรณูของดอกเพศเมียไม่มีเรณู รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปกลมรี มี ๕ พู ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็นแฉกสั้น ๆ ๔ แฉก ดอกเพศผู้มีจานฐานดอกหน้า สูงประมาณ ๑ มม. ด้านข้างเว้าเป็น ๔ พู มีขนประปราย

 ผลเป็นผลกลุ่ม ผลย่อยกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๖-๙ มม. ผลอ่อนสีขาวอมเขียว อุ้มน้ำ ผลห่ามสีม่วง ผลสุกสีดำ ผิวแห้งย่นคล้ายร่างแหไม่เป็นระเบียบ มีกลีบดอกเจริญขึ้นรองรับผล มีเมล็ดแข็ง ๑ เมล็ด

 กอมขมมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคขึ้นตามริมน้ำในป่าดิบแล้งและป่าดิบชื้น บนพื้นที่ระดับน้ำทะเลจนถึงสูงประมาณ ๗๐๐ ม. ในต่างประเทศพบทางภาคตะวันออกของอินเดีย พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย

 เปลือกมีสาร quassiin ให้รสขม ในพม่าและชวาใช้แทนควินิน ชวาใช้ใบแก้ไข้ (Burkill, 1966) ตามชนบทไทยใช้เปลือกเป็นยาแก้ไข้.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กอมขม
ชื่อวิทยาศาสตร์
Picrasma javanica Blume
ชื่อสกุล
Picrasma
คำระบุชนิด
javanica
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Blume, Carl (Karl) Ludwig von
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1796-1862)
ชื่ออื่น ๆ
กรอสะนาสมูล (เขมร-ตะวันออกเฉียงใต้); กะลำเพาะต้น, ไม้หอมตัวผู้, หมาชล (ตะวันออกเฉียงใต้); ก้ามกุ้งต้
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.ธวัชชัย สันติสุข