กอมก้อดง

Pogostemon glaber Benth.

ไม้ล้มลุก ลำต้นตรงและเป็นสี่เหลี่ยม ยอดอ่อนและแผ่นใบมีขน ใบเรียงตรงข้าม รูปไข่ ช่อดอกแบบช่อฉัตร ดอกรูปปากเปิด สีขาวหรือขาวอมชมพู ผลแห้งแข็ง รูปไข่

กอมก้อดงเป็นไม้ล้มลุก ลำต้นตั้งตรง สูงได้ถึง ๒ ม. ยอดอ่อนมีขน เมื่อแก่ผิวค่อนข้างเกลี้ยง ลำต้นและกิ่งเป็นสี่เหลี่ยม

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่ กว้าง ๒.๕-๖ ซม. ยาว ๖-๑๐ ซม. ปลายแหลม โคนมนหรือสอบ ขอบจักฟันเลื่อยบางครั้งอาจมีจักเล็ก ๆ ซ้อนในจักฟันเลื่อย แผ่นใบมีขนละเอียดกระจายอยู่ประปราย ก้านใบยาว ๑.๕-๕ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อฉัตร ออกที่ปลายกิ่งหรือที่ยอด ยาว ๔-๑๒ ซม. ประกอบด้วยดอกรูปปากเปิดขนาดเล็กจำนวนมากอยู่รวมกันเป็นวงรอบแกนช่อเป็นชั้น ๆ มีใบประดับรูปไข่เรียวขนาดเล็กอยู่เป็นคู่บริเวณโคนก้านช่อและโคนดอก ไม่มีก้านดอกกลีบเลี้ยงยาว ๒-๓ มม. มีขน โคนติดกันเป็นรูประฆัง ปลายแยกเป็นแฉกแหลม ๕ แฉก กลีบดอกสีขาวหรือขาวอมชมพู ยาว ๕-๗ มม. กลีบบางและเรียว โคนกลีบติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น ๒ ส่วน ส่วนบนหยักเว้าเป็น ๓ หยัก ขนาดไม่เท่ากันส่วนล่างขอบกลีบเรียบ เกสรเพศผู้ ๔ อัน ก้านชูอับเรณูเรียว ยาว ๑-๑.๔ ซม. มีขน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปเรียวยาวยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก ยาวไล่เลี่ยกับเกสรเพศผู้

 ผลแห้งแข็ง รูปไข่ ขนาดเล็ก มี ๔ เมล็ด

 กอมก้อดงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ขึ้นในที่โล่ง ที่ชื้น ริมแหล่งน้ำ ในป่าเบญจพรรณ ป่าสน และป่าดิบที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๔๐๐-๒,๓๕๐ ม. ในต่างประเทศพบที่จีน อินเดีย เนปาล และลาว

 ชาวจีนบางกลุ่มใช้ใบขยี้หรือทาบริเวณยุงกัดหรือทาแก้คัน แก้ปวด (Perry and Metzger, 1980)

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กอมก้อดง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Pogostemon glaber Benth.
ชื่อสกุล
Pogostemon
คำระบุชนิด
glaber
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Bentham, George
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1800-1884)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์