กอม

Microcos paniculata L.

ชื่ออื่น ๆ
ก่อออบ, กะพล้า, ขนาน, คอม, คอมส้ม, จุกขวด, ตาปลา, ปอกุ่ม, ผ้าอ้อม, พลับพลา, พลา, พ่า, มะก้อม, มะคอม,
-

กอมทั้ง ๒ ชนิดเป็นไม้ต้น ใบเดี่ยว เรียงสลับ กว้าง ๔-๘ ซม. ยาว ๘-๑๗ ซม. ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๘ เส้น เส้นใบย่อยแบบเส้นขั้นบันไดเห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๐.๕-๑ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ช่อย่อยแบบช่อกระจุก ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ยาว ๓-๑๕ ซม. ดอกอ่อนกลมหรือป้อมกลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ ๕ กลีบ ด้านนอกของกลีบเลี้ยงมีขน ด้านในเกลี้ยง กลีบดอกสั้นกว่ากลีบเลี้ยงประมาณเท่าตัวและร่วงง่าย เมื่อดอกบานเต็มที่กลีบจะแยกเป็นอิสระเกสรเพศผู้มีจำนวนมากและล้อมรอบรังไข่รังไข่อยู่เหนือวงกลีบมี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด

 ผลแบบผลมีเนื้อ รูปกลมหรือรูปไข่กลับ กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. เมื่อแก่สีเหลือง มี ๑-๒ เมล็ด

 ข้อแตกต่างของกอมทั้ง ๒ ชนิด คือ

 ชนิด M. paniculata L. ใบรูปขอบขนาน เกลี้ยงปลายเรียวแหลม ผิวรังไข่และผิวผลเกลี้ยง

 ชนิด M. tomentosa Sm. ใบรูปไข่กลับ มีขนสากทั่วไปปลายใบหยักคอดเป็นติ่งสั้นหรือเว้าแหว่งเป็นริ้ว ผิวรังไข่มีขนสากแน่น และผิวผลมีขนทั่วไป

 กอมมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นตามป่าเบญจพรรณชื้น ป่าแดง และตามป่าดิบแล้ง ในต่างประเทศพบที่อินเดีย จีนตอนใต้ ไปถึงอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์

 ผลแก่กินได้ เส้นใยจากเปลือกใช้ทำเชือกหยาบ ๆ.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กอม
ชื่อวิทยาศาสตร์
Microcos paniculata L.
ชื่อสกุล
Microcos
คำระบุชนิด
paniculata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl von
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1707-1778)
ชื่ออื่น ๆ
ก่อออบ, กะพล้า, ขนาน, คอม, คอมส้ม, จุกขวด, ตาปลา, ปอกุ่ม, ผ้าอ้อม, พลับพลา, พลา, พ่า, มะก้อม, มะคอม,
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.จำลอง เพ็งคล้าย