กวางดูถูก

Naravelia laurifolia Wall. ex Hook.f. & Thomson

ชื่ออื่น ๆ
ดอกตาย, หลอกตาย (ปัตตานี); อุโซมาติ (มลายู-ปัตตานี)
ไม้เลื้อย กิ่งสีน้ำตาลเข้มจนถึงม่วงดำ ใบประกอบเรียงตรงข้าม มีใบย่อยคู่เดียว มีรยางค์ยาวปลายแยกเป็น ๓ เส้น ใบย่อยรูปไข่ เส้นแขนงใบออกจากโคนใบ ช่อดอกแบบช่อกระจะออกตามง่ามใบและปลายยอด กลีบเลี้ยงสีเขียวแต้มสีม่วงผลเป็นผลกลุ่ม ผลย่อยแข็ง รูปกระสวย ปลายผลมีเส้นยาวคล้ายแส้ บิดโค้ง

กวางดูถูกเป็นไม้เลื้อย ยาว ๒-๖ ม. ลำต้นแข็ง ผิวเปลือกเรียบ กิ่งสีน้ำตาลเข้มจนถึงม่วงดำ แตกแขนงตรงข้ามกัน

 ใบประกอบเรียงตรงข้าม มีใบย่อยคู่เดียว มีรยางค์ยาวปลายแยกเป็น ๓ เส้น อยู่ระหว่างคู่ใบย่อย ก้านใบประกอบยาว ๔-๖ ซม. ใบย่อยรูปไข่ กว้าง ๒-๖ ซม. ยาว ๕-๑๐ ซม. ปลายแหลม โคนสอบมน ขอบเรียบหรือหยักตื้น ๆ แผ่นใบหนาสีเขียวเข้ม เส้นแขนงใบออกจากโคนใบ

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามง่ามใบและปลายยอด ก้านดอกยาว ๑-๒.๕ ซม. กลีบเลี้ยง ๔ กลีบ สีเขียวแต้มสีม่วง รูปไข่หรือรูปรียาว กว้าง ๓-๕ มม. ยาว ๖-๗ มม. มีเกสรเพศผู้เป็นหมันลักษณะคล้ายกลีบดอก ๙-๑๔ อัน กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๑-๑.๕ ซม. สีเหลืองอมเขียว เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ ๑๕-๒๓ อัน เกสรเพศเมีย ๑๑-๑๖ อัน แยกกัน

 ผลเป็นผลกลุ่ม ผลย่อยแข็ง รูปกระสวย มีขนสีขาวปลายผลมีเส้นยาวคล้ายแส้ บิดโค้ง

 กวางดูถูกมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้ขึ้นในป่าโปร่งที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑๐-๓๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดีย พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กวางดูถูก
ชื่อวิทยาศาสตร์
Naravelia laurifolia Wall. ex Hook.f. & Thomson
ชื่อสกุล
Naravelia
คำระบุชนิด
laurifolia
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel
- Hooker, Joseph Dalton
- Thomson, Thomas
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel (1786-1854)
- Hooker, Joseph Dalton (1817-1911)
- Thomson, Thomas (1817-1878)
ชื่ออื่น ๆ
ดอกตาย, หลอกตาย (ปัตตานี); อุโซมาติ (มลายู-ปัตตานี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายพงษ์ศักดิ์ พลตรี