กล้วยอ้ายพอน

Uvaria lurida Hook.f. & Thomson

ชื่ออื่น ๆ
บัวบก (ชลบุรี)
ไม้พุ่มรอเลื้อย กิ่งอ่อน ใบด้านล่าง ผิวด้านนอกของกลีบเลี้ยง และกลีบดอกมีขน ใบเรียงสลับ รูปรี ดอกสีแดง ออกตามปลายกิ่งและตามกิ่งตรงข้ามกับใบ ผลเป็นผลกลุ่ม ผลย่อยรูปทรงกระบอก แก่จัดสีเหลืองถึงแดง

กล้วยอ้ายพอนเป็นไม้พุ่มรอเลื้อยเนื้อแข็ง พาดตามพุ่มไม้ไปได้ไกล กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลอมเหลือง กิ่งแก่ค่อนข้างเกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๓-๘ ซม. ยาว ๖-๑๘ ซม. ปลายแหลม โคนมน ขอบเรียบ แผ่นใบ ด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างสีเขียวนวล อาจมีขนสีน้ำตาลอมเหลืองเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ประปรายกระจายตามเส้นกลางใบ ก้านใบยาว ๓-๕ มม.

 ดอกออกเดี่ยวที่ปลายกิ่งและตามกิ่ง ตรงข้ามกับใบหรือเยื้องกับใบเล็กน้อย สีแดงสด เมื่อบานเต็มที่เส้นผ่านศูนย์กลาง ๔-๗ ซม. มีกลิ่นหอมอ่อน ก้านดอกยาว ๒-๓ ซม. มีกลุ่มขนสีน้ำตาลอมเหลืองประปราย กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ โคนติดกันด้านนอกมีขน ด้านในเกลี้ยง กลีบดอกเรียงสลับกัน ๒ ชั้น ชั้นละ ๓ กลีบ ขนาดเท่ากัน รูปไข่ค่อนข้างกว้าง ยาว ๒-๒.๕ ซม. ปลายกลีบงอขึ้นเล็กน้อย กลีบด้านนอกมีขนคล้ายเกล็ดสีน้ำตาลอมเหลืองหนาแน่น ด้านในมีขนห่าง ๆ เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก อยู่ชิดกันแน่นเป็นพุ่มกลม เกสรเพศเมียจำนวนมาก เรียงชิดกันแน่นอยู่ตรงกลางดอก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก

 กล้วยอ้ายพอนมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ขึ้นตามชายป่าดิบแล้ง บนพื้นที่ราบเชิงเขาจนถึงที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๘๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่แคว้นอัสสัมของอินเดียและเวียดนาม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กล้วยอ้ายพอน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Uvaria lurida Hook.f. & Thomson
ชื่อสกุล
Uvaria
คำระบุชนิด
lurida
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Hooker, Joseph Dalton
- Thomson, Thomas
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Hooker, Joseph Dalton (1817-1911)
- Thomson, Thomas (1817-1878)
ชื่ออื่น ๆ
บัวบก (ชลบุรี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.ธวัชชัย สันติสุข