กล้วยมะสัง

Fissistigma bicolor (Hook.f. & Thomson) Merr.

ไม้เถาเนื้อแข็งยอดอ่อนและผิวใบด้านล่างมีขนสีน้ำตาลใบเรียงสลับ รูปขอบขนาน ด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ดอกเดี่ยว ออกตรงข้ามกับใบและตามปลายกิ่ง หรือออกเป็นช่อกระจุก ผลเป็นผลกลุ่ม ผลย่อยรูปไข่แกมรูปทรงกระบอกสั้น ๆ แก่จัดสีคล้ำ

กล้วยมะสังเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง เลื้อยได้ไกลถึง ๒๐ ม. โดยใช้ลำต้นม้วนพันต้นอื่น ตามยอดและกิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาล

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๓-๑๐ ซม. ยาว ๘-๒๖ ซม. ปลายแหลมโคนมน ขอบเรียบ แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน มีขนตามเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบ ด้านล่างมีขนนุ่มสีน้ำตาลทั่วไปเส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๑๘ เส้น เรียงขนานกันเป็นระเบียบได้ระยะห่างสม่ำเสมอ ปลายโค้งจรดขอบใบ ระหว่างเส้นแขนง ใบมีเส้นขั้นบันได ก้านใบยาว ๐.๖-๑.๒ ซม. มีขนสีน้ำตาล

 ดอกออกเดี่ยวตามกิ่งตรงข้ามกับใบและที่ปลายกิ่ง หรือเป็นช่อสั้น ๆ ไม่แยกแขนงช่อละ ๒-๕ ดอก ยาว ๑.๒-๕ ซม. มีขนสีน้ำตาล ก้านดอกยาว ๐.๗-๒.๑ ซม. กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ รูปสามเหลี่ยม ยาว ๒-๓ มม. โคนติดกัน แผ่นกลีบโค้งเป็นกระพุ้งเล็กน้อย มีขนนุ่มสีน้ำตาลหนาแน่น กลีบดอกของดอกตูมจรดกันเป็นรูปกรวยแหลม กลีบดอกเรียงสลับกัน ๒ ชั้น ชั้นละ ๓ กลีบ หนา รูปใบหอก ยาว ๑.๘-๒.๕ ซม. ด้านนอกกลีบมีขนสีน้ำตาลหนาแน่น กลีบดอกชั้นในเล็กกว่าและมีขนน้อยกว่า เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก อยู่ชิดกันแน่นเป็นพุ่มกลมรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีจำนวนมาก แยกกัน โค้งเล็กน้อย มีขน มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก

 ผลเป็นผลกลุ่ม อยู่บนแกนตุ้มกลม มี ๕-๑๐ ผล ก้านช่อผลยาว ๐.๗-๑.๖ ซม. ผลย่อยรูปไข่แกมรูปทรงกระบอกสั้น ๆ กว้าง ๑.๓-๑.๘ ซม. ยาว ๑.๒-๒.๗ ซม. มีขนสีน้ำตาลหนาแน่น ปลายผลบ้าน มีติ่งมนเล็กน้อย ก้านผลยาว ๑-๒ ซม. มีขนสีน้ำตาลประปราย แก่จัดสีคล้ำ มีหลายเมล็ด

 กล้วยมะสังมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ ขึ้นตามป่าดิบชื้น บนพื้นที่ระดับต่ำจนถึงสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๕๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่มาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กล้วยมะสัง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Fissistigma bicolor (Hook.f. & Thomson) Merr.
ชื่อสกุล
Fissistigma
คำระบุชนิด
bicolor
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Hooker, Joseph Dalton
- Thomson, Thomas
- Merrill, Elmer Drew
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Hooker, Joseph Dalton (1817-1911)
- Thomson, Thomas (1817-1878)
- Merrill, Elmer Drew (1876-1956)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.ธวัชชัย สันติสุข