กล้วยพังพอน

Uvaria hamiltonii Hook.f. & Thomson

ไม้เถาเนื้อแข็ง กิ่งอ่อนมีขนรูปดาวสีน้ำตาลหนาแน่น ใบเรียงสลับ รูปไข่กลับ มีขน ช่อดอกแบบช่อกระจุกลดรูป มักเหลือดอกเดียว ออกตามง่ามใบ ดอกใหญ่ สีแดงเข้ม ผลเป็นผลกลุ่ม ผลย่อยแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกระบอกโค้ง ผลสุกสีเหลือง

กล้วยพังพอนเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง ยาว ๑๐-๑๘ ม. ลำต้นเลื้อยทอดไปบนพุ่มไม้อื่น เปลือกเรียบ สีน้ำตาล กิ่งอ่อน มีขนรูปดาวสีน้ำตาลหนาแน่น

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่กลับ กว้าง ๙-๑๔ ซม. ยาว ๑๕-๒๕ ซม. ปลายแหลม โคนมน ขอบเรียบ แผ่นใบหนาด้านบนมีขนสีน้ำตาลเข้ม ด้านล่างมีขนสีน้ำตาลอ่อน เส้นกลางใบเป็นสันเล็กน้อยทางด้านบน เส้นแขนงใบข้างละ ๑๔-๑๙ เส้น ปลายโค้ง เส้นใบย่อยแบบขั้นบันได ก้านใบยาว ๑-๒ ซม. เป็นร่อง โคนก้านอวบ มีขน

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกลดรูป มักเหลือดอกเดียว ออกตามง่ามใบ ช่อห้อยลง ดอกสีแดงเข้ม กลิ่นหอมอ่อน ก้านดอกยาว ๑.๕-๒ ซม. มีขน มีใบประดับ ๑ ใบ รูปใบหอก กว้าง ๔-๕ มม. ยาว ๑.๕-๒ ซม. อยู่ที่โคนก้านดอก กลีบเลี้ยง ๓ กลีบรูปไข่ กว้างประมาณ ๓ ซม. ยาว ๒.๕-๓ ซม. เรียงเป็นรูปถ้วย มีขนทั้ง ๒ ด้าน กลีบดอก ๖ กลีบ รูปไข่กลับ เรียงเป็น ๒ ชั้น ชั้นละ ๓ กลีบ ขนาดใกล้เคียงกัน กว้าง ๒-๒.๕ ซม. ยาว ๓.๕-๕.๕ ซม. ด้านนอกมีขน เมื่อใกล้โรยกลีบโค้งงอกลับ เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก รูปขอบขนาน อับเรณู ๔ พู แตกด้านข้าง เกสรเพศเมียหลายอัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑๐-๒๐ เม็ด ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก

 ผลเป็นผลกลุ่ม ก้านช่อผลยาวประมาณ ๓.๕ ซม. มีผลย่อยติดที่ปลายช่อเป็นพวง ๒๐-๓๕ ผล ผลย่อยแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกระบอกโค้ง เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๑.๘ ซม. ยาว ๖-๘ ซม. ผิวมีสันนูนตามยาว ๔ เส้น และมีเส้นตัดตามขวางจำนวนมาก โคนผลคอดเรียวเป็นก้านยาว ๐.๗-๑ ซม. ผลสุกสีเหลือง แต่ละผลมีเมล็ดจำนวนมากเรียงเป็น ๒ แถว

 กล้วยพังพอนมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ตามป่าดิบชื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๕๐-๓๐๐ ม. ออกดอกเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม ผลแก่หลังจากดอกบาน ๔-๕ เดือน ในต่างประเทศพบที่จีนตอนใต้ อินเดีย พม่า ลาว และเวียดนาม

 ผลสุกเป็นอาหารของสัตว์ป่า ดอกมีขนาดใหญ่สีแดงเข้มสวยงาม เหมาะที่จะขยายพันธุ์เป็นไม้ประดับ.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กล้วยพังพอน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Uvaria hamiltonii Hook.f. & Thomson
ชื่อสกุล
Uvaria
คำระบุชนิด
hamiltonii
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Hooker, Joseph Dalton
- Thomson, Thomas
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Hooker, Joseph Dalton (1817-1911)
- Thomson, Thomas (1817-1878)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น