กล้วยป่า

Musa acuminata Colla

ชื่ออื่น ๆ
กล้วยแค่ (เหนือ), กล้วยเถื่อน (ใต้), กล้วยลิง (อุตรดิตถ์), กล้วยหม่น (เชียงใหม่)
-

กล้วยป่ามีลำต้นเทียมสูง ๒.๕-๓.๕ ม. เส้นผ่านศูนย์กลางต่ำกว่า ๑๕ ซม. กาบลำต้นด้านนอกมีปื้นดำ มีนวลเล็กน้อย


ส่วนด้านในสีแดง ใบชูขึ้นค่อนข้างตรง ก้านใบสีชมพูอมแดงมีจุดดำ มีครีบ เส้นกลางใบสีเขียว ก้านช่อดอกมีขนอ่อน ๆ มาก ใบประดับค่อนข้างยาว ปลายแหลม ด้านบนสีม่วงอมแดง มีนวล ด้านล่างที่โคนสีแดงซีด เมื่อใบกางตั้งขึ้นจะเอนไปด้านหลังและม้วนงอเห็นได้ชัด การเรียงของใบประดับบนช่อดอกไม่ค่อยซ้อนมาก และจะมีลักษณะนูนขึ้นที่โคนเห็นเป็นสันชัดเจนเมื่อใบประดับหลุดออก ดอกย่อยมีก้านดอกสั้นผลจึงมีก้านสั้นและมีขนาดเล็ก รูปร่างของผลมีหลายแบบแตกต่างกันไปตามชนิดย่อย บางชนิดมีผลโค้งงอ บางชนิดไม่โค้งงอผลมีเนื้อน้อย สีขาว รสหวาน มีเมล็ดจำนวนมาก สีดำ ผนังหนา แข็ง

 กล้วยป่าชนิดนี้ที่พบในประเทศไทยมี 4 ชนิดย่อย (Subspecies) คือ

 ๑. M. acuminata Colla subsp. siamea Simmonds

 ๒. M. acuminata Colla subsp. burmanica Simmonds

 ๓. M. acuminata Colla subsp. malaccensis (Ridl.) Simmonds

 ๔. M. acuminata Colla subsp. microcarpa (Becc.) Simmonds

 กล้วยป่ามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคขึ้นตามป่าดิบ ในต่างประเทศพบที่อินเดีย พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย กล้วยชนิดนี้นอกจากขยายพันธุ์ด้วยการแยกหน่อแล้ว ยังใช้เมล็ดปลูกได้ ผลของกล้วยป่าเมื่อสุกกินได้แต่ไม่นิยมเพราะมีเมล็ดมาก ผลอ่อนและหัวปลีกินได้

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กล้วยป่า
ชื่อวิทยาศาสตร์
Musa acuminata Colla
ชื่อสกุล
Musa
คำระบุชนิด
acuminata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Colla, Luigi (Aloysius)
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1766-1848)
ชื่ออื่น ๆ
กล้วยแค่ (เหนือ), กล้วยเถื่อน (ใต้), กล้วยลิง (อุตรดิตถ์), กล้วยหม่น (เชียงใหม่)
ผู้เขียนคำอธิบาย
-