กลิ้ง

Sindora coriacea (Baker) Prain

ชื่ออื่น ๆ
ค่ามัน, อ้ายกลิ้ง (ปัตตานี)
ไม้ต้น ผลัดใบ ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงสลับใบย่อยรูปขอบขนาน โคนเบี้ยว ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงออกตามปลายกิ่ง ดอกสีเหลืองหรือแดงอมส้ม มีกลีบดอกกลีบเดียว ฝักกลมแบน ผิวค่อนข้างเรียบ แก่จัดแตกตามรอยประสาน

กลิ้งเป็นไม้ต้น ผลัดใบ สูง ๓๐-๔๐ ม. ลำต้นเปลาเปลือกเรียบ สีเทาคล้ำ

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงสลับ ยาว ๑๐-๑๘ ซม. มีใบย่อย ๓-๕ คู่ คู่ปลายใหญ่กว่าคู่อื่น ๆ ใบย่อยหนารูปขอบขนานหรือรูปรีแกมรูปไข่กลับ กว้าง ๓-๗.๕ ซม. ยาว ๖-๑๓ ซม. ปลายมน โคนเบี้ยว ขอบเรียบ

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง ยาว ๒๐-๓๐ ซม. มีขนสั้นสีน้ำตาลอมเหลืองหนาแน่น มีดอกจำนวนมาก ก้านดอกยาวประมาณ ๒ มม. กลีบเลี้ยง ๔ กลีบ ยาว ๖-๗ มม. รูปร่างแตกต่างกัน ผิวด้านในมีขนยาวแข็งสีน้ำตาลหนาแน่น กลีบด้านนอกขนาดใหญ่กว่าอีก ๓ กลีบ กลีบดอก ๑ กลีบ สีเหลืองแล้วเปลี่ยนเป็นสีแดงอมส้ม รูปใบหอก ยาว ๖-๗ มม. เกสรเพศผู้ ๑๐ อัน ๙ อัน โคนก้านชูอับเรณูติดกัน มีขนาดใหญ่สุด ๒ อัน อีกอันหนึ่งเป็นหมันและแยกเป็นอิสระรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ก้านสั้น มีขน มี ๑ ช่อง มีออวุลหลายเม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียโค้งงอ

 ฝักแบน รูปกลม รูปไข่ หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ กว้าง ๔.๕-๖ ซม. ยาว ๖-๘ ซม. มักมีจะงอยที่ส่วนปลาย เปลือกแข็ง ผิวค่อนข้างเรียบหรือมีหนามสั้น ๆ เป็นตุ่มขึ้นอยู่ห่าง ๆ มียางเหนียว เมื่อฝักแก่รอยประสานด้านหนึ่งจะแตกออกทำให้ ฝักอ้าออกเป็นรูปถ้วย มี ๒-๓ เมล็ด สีดำ รูปกลมแบน แข็ง เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑.๕ ซม. มีเยื่อหนาสีเหลืองรูปถ้วยยาวประมาณ ๑.๓ ซม. หุ้มฐานเมล็ด

 กลิ้งมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ตอนล่าง ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไป ขึ้นตามป่าดิบชื้นที่ไม่สูงจากระดับน้ำทะเลมากนัก ในต่างประเทศพบที่แหลมมลายู เกาะสุมาตรา และเกาะบอร์เนียว

 เนื้อไม้สีน้ำตาลอ่อน ใช้ในการก่อสร้างในร่มที่ไม่ต้องรับน้ำหนักมากนัก หรือใช้ทำเครื่องเรือน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กลิ้ง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Sindora coriacea (Baker) Prain
ชื่อสกุล
Sindora
คำระบุชนิด
coriacea
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Baker, John Gilbert
- Prain, David
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Baker, John Gilbert (1834-1920)
- Prain, David (1857-1944)
ชื่ออื่น ๆ
ค่ามัน, อ้ายกลิ้ง (ปัตตานี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.ธวัชชัย สันติสุข