กลอนดู่

Gomphostemma javanicum (Blume) Benth.

ชื่ออื่น ๆ
ขนหนอน (สุราษฎร์ธานี); หาดกบ, หอมฮอก (เชียงใหม่)
ไม้ล้มลุกหรือไม้พุ่ม ลำต้นเป็นเหลี่ยม มีขนรูปดาวหนาแน่น ใบเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรีถึงรูปไข่กลับ มีขน ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามง่ามใบ ดอกสีเหลืองหรือขาวอมเหลือง รูปปากเปิด ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปไข่หรือรูปไข่กลับ ค่อนข้างแบน

กลอนดู่เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี หรือไม้พุ่ม สูงได้ถึง ๒.๕ ม. ลำต้นเป็นเหลี่ยม ตั้งตรง แตกกิ่งน้อย เปลือกเรียบสีน้ำตาลหรือน้ำตาลอมเทา มีขนรูปดาวหนาแน่น

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปขอบขนาน รูปขอบหรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ กว้าง ๓.๕-๑๕ ชม. ยาว ๗-๒๕ ซม. ปลายแหลม โคนรูปลิ่มหรือสอบเรียวขอบจักฟันเลื่อย หยักมน หรือเรียบ แผ่นใบบางหรือหนา มีขนรูปดาวทั้ง ๒ ด้าน เส้นกลางใบเรียบหรือเป็นร่องตื้น ๆ ทางด้านบน เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๘ เส้น ปลายโค้งจรดกันที่ขอบใบ ด้านบนเป็นร่องตื้น ด้านล่างนูน ก้านใบยาว ๐.๕-๓.๕ ซม. ด้านบนเป็นร่อง มีขนรูปดาว ใบประดับรูปแถบ หรือรูปใบหอก แกมรูปแถบ ยาว ๓-๘ มม. บางครั้งสั้นมาก เห็นไม่ชัดเจน

 ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามง่ามใบ ช่อละ ๒-๗ ดอกก้านช่อดอกสั้นมาก ดอกสีเหลืองหรือขาวอมเหลือง ก้านดอก ยาว ๑-๓ มม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันคล้ายรูประฆัง ยาว ๐.๕-๑ ซม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปสามเหลี่ยมหรือรูปใบหอก ขนาดเกือบเท่ากัน ปลายแฉกแหลม เรียวแหลม หรือรูปใบหอก แฉกมักสั้นกว่าหลอด ด้านในหลอดมีขนหันขึ้น ด้านนอกมีขนหนาแน่น มีสันตามยาว ๑๐ สัน เห็นชัดเจน กลีบ


ดอกรูปปากเปิด ยาว ๓.๕-๔ ซม. ด้านบนมี ๑ แฉก ค่อนข้างกลม ด้านล่างมี ๓ แฉก แฉกกลางใหญ่สุด ค่อนข้างกลม ปลายเรียบหรือเว้าตื้น หลอดกลีบดอกรูปกรวย โค้งเล็กน้อยด้านนอกมีขนรูปดาว ด้านในเกลี้ยง เกสรเพศผู้มี ๒ คู่ยาวไม่เท่ากัน แนบขนานกับกลีบดอกด้านบน ไม่โผล่พ้นปากหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูติดด้านหลัง บนก้านมีขน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๔ พู แต่ละพูมีออวุล ๑ เม็ด มีขนหนาแน่น ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวเท่ากับเกสรเพศผู้ยาวปลายแยกเป็น ๒ แฉกยาวไม่เท่ากัน

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปไข่หรือรูปไข่กลับ ค่อนข้างแบน ยาว ๓-๕ มม. มีขนรูปดาวกระจายทั่วไป มักสมบูรณ์เพียง ๑-๒ ผล

 กลอนดู่มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคพบในสภาพป่าเกือบทุกประเภท ส่วนใหญ่ขึ้นในที่ค่อนข้างร่มหรือริมลำธารในป่าดิบชื้นใกล้ระดับน้ำทะเลจนถึงสูงประมาณ ๑,๘๐๐ ม. ออกดอกเดือนมิถุนายนถึงพฤศจิกายน เป็นผลเดือนตุลาคมถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

 ใบใช้ปิดบาดแผล น้ำคั้นจากใบแก้ปวดท้อง เป็นพรรณไม้ที่มีความผันแปรสูงเกี่ยวกับขนาด รูปร่างของใบ ความหนาแน่นของขน ขนาดและรูปร่างของแฉกกลีบเลี้ยง ตลอดจนสีของกลีบดอก แต่มีข้อสังเกตได้ง่ายคือ ช่อดอกเป็นกระจุกสั้น ๆ ที่ง่ามใบ ก้านช่อดอกสั้นมากหรือไร้ก้านช่อ แฉกกลีบเลี้ยงอาจสั้นหรือยาว แต่จะไม่ยาวกว่าหลอดกลีบเลี้ยง.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กลอนดู่
ชื่อวิทยาศาสตร์
Gomphostemma javanicum (Blume) Benth.
ชื่อสกุล
Gomphostemma
คำระบุชนิด
javanicum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Blume, Carl (Karl) Ludwig von
- Bentham, George
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Blume, Carl (Karl) Ludwig von (1796-1862)
- Bentham, George (1800-1884)
ชื่ออื่น ๆ
ขนหนอน (สุราษฎร์ธานี); หาดกบ, หอมฮอก (เชียงใหม่)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.สมราน สุดดี