กราย

Xylopia malayana Hook.f. & Thomson

ไม้ต้น โคนต้นมีพอน ใบเรียงสลับระนาบเดียว ค่อนข้างหนาเป็นมัน ดอกเดี่ยวหรือเป็นกระจุกไม่เกิน ๓ ดอก ออกตามง่ามใบ สีเหลือง กลีบดอกวงนอกยาวและใหญ่กว่ากลีบวงใน ผลเป็นผลกลุ่ม ผลย่อยรูปทรงกระบอก สีชมพู แก่จัดแตกแนวเดี่ยว

 กรายเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๔๐ ม. โคนต้นมีพอนต่ำหรือแผ่กว้างเป็นแผ่น สูง ๑-๒ ม. เปลือกสีขาวแกมเทาถึงเหลืองหม่น เรียบหรือแตกเป็นร่องหรือเป็นสะเก็ด เมื่อสะเก็ดร่วงทิ้งรอยเป็นแอ่งขึ้น เปลือกในสีเหลืองหม่นมีเส้นสีน้ำตาลแทรก กิ่งอ่อนมีช่องอากาศมาก

 ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปขอบขนานแกมรี กว้าง ๔-๕ ซม. ยาว ๘-๑๑ ซม. ปลายเป็นติ่งแหลมสั้น ๆ โคนสอบ แผ่นใบค่อนข้างหนา ด้านบนเป็นมัน เส้นแขนงใบข้างละ ประมาณ ๘ เส้น ปลายโค้งจรดกับเส้นถัดไปก่อนถึงขอบใบ เส้นแขนงใบและเส้นร่างแหเห็นไม่ชัดทางด้านบน แต่นูนเด่นทางด้านล่าง เส้นกลางใบเป็นร่องทางด้านบน เป็นสันทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๓-๕ มม.

 ดอกสีเหลืองซีด ออกตามง่ามใบ ๑-๓ ดอก กลิ่นหอม กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ โคนติดกัน กลีบดอกแคบ เรียงสลับกัน ๒ ชั้น ชั้นละ ๓ กลีบ ยาว ๒-๒.๕ ซม. ชั้นนอกแบน ชั้นในกลางกลีบด้านนอกเป็นสัน เกสรเพศผู้และเกสรเพศเมียมีจำนวนมาก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก

 ผลเป็นผลกลุ่ม กลุ่มละ ๓-๔ ผล อยู่บนแกนตุ้มกลมแต่ละผลสีชมพู รูปทรงกระบอก กว้าง ๑.๕-๒ ซม. ยาว ๒.๕-๓ ซม. มีขนสีน้ำตาล เมื่อแก่เต็มที่จะปริแยกออกจากกันตามรอยประสาน มี ๔-๗ เมล็ด ค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ประมาณ ๕ มม. มีเยื่อนุ่มสีขาวแกมเทาหุ้ม

 กรายมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้ ขึ้นตามป่าดิบชื้นในระดับต่ำและป่าพรุ ออกดอกระหว่างเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคมาเลเซีย

 เนื้อไม้แข็งปานกลาง ไม่ค่อยทนทาน ใช้ในการก่อสร้างภายใน และทำลังใส่ของ.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กราย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Xylopia malayana Hook.f. & Thomson
ชื่อสกุล
Xylopia
คำระบุชนิด
malayana
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Hooker, Joseph Dalton
- Thomson, Thomas
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Hooker, Joseph Dalton (1817-1911)
- Thomson, Thomas (1817-1878)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.เต็ม สมิตินันทน์