กระไดลิง

Bauhinia scandens L. var. horsfieldii (Miq.) K. & S.S.Larsen

ชื่ออื่น ๆ
กระไดวอก, มะลืมดำ (เหนือ); บันไดลิง, ลางลิง
ไม้เถาเนื้อแข็ง ค่อนข้างแบนและโค้งพับไปมา ใบเรียงสลับ รูปไข่หรือรูปหัวใจ ปลายเว้าลึกเกือบถึงโคนใบ ช่อดอก แบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่ง ดอกสีขาวอมเหลืองฝักแบน รูปรีหรือรูปไข่ มีติ่งแหลมที่ปลายฝัก แก่จัดสีน้ำตาลแดง แตกตามรอยประสาน

 กระไดลิงเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง มีมือเกาะ ขึ้นพาดพันตามเรือนยอดของต้นไม้ไปได้ไกล เถาแก่แข็ง เหนียว แบน โค้งไปมาเป็นลอนสม่ำเสมอลักษณะเป็นชั้น ๆ คล้ายบันได จึงเรียก กันว่า “กระไดลิง” กิ่งอ่อนมีขนประปราย กิ่งแก่เกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่หรือรูปหัวใจ กว้าง ๕-๑๒ ซม. ยาว ๖-๑๑ ซม. ปลายแหลม หรือเว้ามากหรือน้อย ใบที่ส่วนปลายเว้าลึกลงมาค่อนใบแผ่นใบจะมีลักษณะเป็น ๒ แฉก โคนใบกว้าง มักเว้าเล็กน้อยที่รอยต่อก้านใบเป็นรูปคล้ายหัวใจ มีเส้นโคนใบ ๕-๗ เส้น แผ่นใบด้านบนเกลี้ยงเป็นมัน ด้านล่าง มีขนประปรายหรือเกลี้ยง ก้านใบยาว ๑.๕-๕ ซม. หูใบเล็กมากเป็นติ่งยาว ร่วงง่าย

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ยาว ๑๒-๒๕ ซม. ออกตามปลายกิ่ง มีขนประปราย แตกแขนงน้อย แต่ละแขนงมีดอกสีขาวอมเหลืองขนาดเล็กจำนวนมาก กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ ติดกันคล้ายรูปถ้วย กลีบดอก ๕ กลีบ คล้ายรูปพัด ก้านกลีบดอกสั้น เกสรเพศผู้สมบูรณ์ ๓ อัน เกสรเพศผู้เป็นหมัน ๒ อัน ขนาดเล็กกว่า รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปรี ก้านสั้น มีออวุลมากกว่า ๑ เม็ด

 ฝักแบน รูปรีหรือรูปไข่แกมรี กว้าง ๑.๕-๒ ซม. ยาว ๓-๔ ซม. ปลายมน มีติ่งแหลมสั้น ๆ ฝักแก่สีน้ำตาลแดงแตกตามรอยประสาน

 กระไดลิงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคเว้นภาคใต้ ขึ้นตามป่าดิบแล้งและป่าเบญจพรรณชื้น ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ภูมิภาคอินโดจีน และอินโดนีเซีย

 ในอินโดนีเซียใช้น้ำเลี้ยงจากเถากระไดลิงจิบบรรเทาอาการไอ (Perry and Metzger, 1980)

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กระไดลิง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Bauhinia scandens L. var. horsfieldii (Miq.) K. & S.S.Larsen
ชื่อสกุล
Bauhinia
คำระบุชนิด
scandens
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl von
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
var. horsfieldii
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- (Miq.) K. & S.S.Larsen
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1707-1778)
ชื่ออื่น ๆ
กระไดวอก, มะลืมดำ (เหนือ); บันไดลิง, ลางลิง
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.ธวัชชัย สันติสุข