กระแตไต่ไม้

Drynaria quercifolia (L.) J.Sm.

ชื่ออื่น ๆ
กระปรอก (จันทบุรี); กระปรอกว่าว (ประจวบคีรีขันธ์, ปราจีนบุรี); กูดขาฮอก (แม่ฮ่องสอน); ใบหูช้าง, สไบน
เฟิร์นอิงอาศัย เหง้ายาว ใบที่ไม่สร้างอับสปอร์รูปไข่ ขอบหยักเว้ามนตื้น ๆ ใบสร้างอับสปอร์ขอบหยักลึกเกือบถึงเส้นกลางใบ กลุ่มอับสปอร์รูปกลมหรือรูปไข่ เรียงสองข้างของเส้นใบ

กระแตไต่ไม้เป็นเฟิร์นอิงอาศัย เหง้าทอดยาว เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๕-๔ ซม. ยาวได้ถึง ๑ ม. หรือมากกว่า มีเกล็ดสีน้ำตาลเข้ม กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๑.๘ ซม. ปลายเรียวยาว รากสั้น มีรากขนอ่อนสีน้ำตาล

 ใบเดี่ยว มีรูปร่างและหน้าที่ต่างกัน ๒ แบบ ใบไม่สร้างอับสปอร์ รูปไข่ กว้าง ๑๐-๒๕ ซม. ยาว ๑๕-๓๕ ซม. ปลายแหลม โคนมน ขอบหยักเว้ามนตื้น ๆ เข้าหาเส้นกลางใบทั้ง ๒ ด้าน ปลายมน ไม่มีก้านใบ ใบชนิดนี้จะมีสีเขียวอยู่ระยะเวลาหนึ่ง ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและแห้ง แต่ยังคงติดอยู่กับต้น จึงเห็นซ้อนกันหลายใบ เป็นที่สะสมของใบไม้แห้งที่ตกลงมา ซึ่งจะกลายเป็นปุ๋ยให้ต้น ใบสร้างอับสปอร์กว้าง ๒๐-๓๕ ซม. ยาว ๐.๖-๑ ม. รูปคล้ายใบประกอบแบบขนนก ขอบหยักเว้าลึกเข้าหาเส้นกลางใบทั้ง ๒ ด้าน แต่ละแฉกลึกเกือบถึงเส้นกลางใบ ใบชนิดนี้มีสีเขียวตลอดอายุ เมื่อใบแก่แผ่นใบจะร่วงไป คงเหลือส่วนก้านใบและเส้นกลางใบติดอยู่กับต้น กลุ่มอับสปอร์รูปกลมหรือรูปไข่ เรียงตัวค่อนข้างมีระเบียบ ๒ ข้างของเส้นใบที่แบ่งกลางแต่ละแฉก

 กระแตไต่ไม้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค เกาะอยู่ตามต้นไม้ใหญ่หรือบนก้อนหินบริเวณกลางแจ้งในป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าชายเลน บนพื้นที่ระดับต่ำจนถึงที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๑,๐๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่จีน อินเดีย ศรีลังกา ภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซีย ฟิจิ และเขตศูนย์สูตรของออสเตรเลีย

 ในมาเลเซียใช้เป็นสมุนไพรบดพอกแก้บวม (Burkill, 1935) นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กระแตไต่ไม้
ชื่อวิทยาศาสตร์
Drynaria quercifolia (L.) J.Sm.
ชื่อสกุล
Drynaria
คำระบุชนิด
quercifolia
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl von
- Smith, John
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl von (1707-1778)
- Smith, John (1798-1888)
ชื่ออื่น ๆ
กระปรอก (จันทบุรี); กระปรอกว่าว (ประจวบคีรีขันธ์, ปราจีนบุรี); กูดขาฮอก (แม่ฮ่องสอน); ใบหูช้าง, สไบน
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.ทวีศักดิ์ บุญเกิด