กระเบาใต้

Hydnocarpus nana King

ไม้พุ่มหรือไม้ต้น ใบเรียงเวียน รูปรีแกมรูปไข่ถึงรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ดอกแยกเพศต่างต้นหรือร่วมต้น ออกเหนือง่ามใบ สีขาว ผลแบบผลแห้งไม่แตก รูปกลมหรือกลมแป้น

กระเบาใต้เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง ๖ ม. เปลือกสีเทาดำ กิ่งมีขนสีสนิม

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีแกมรูปไข่ถึงรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้าง ๒-๔(-๖) ซม. ยาว ๖.๕-๑๒.๕ ซม. ปลายเรียวแหลมและคอดโค้ง โคนเบี้ยว รูปลิ่มถึงมน ขอบหยักมนหรือจักฟันเลื่อยตื้น ๆ แผ่นใบบางหรือค่อนข้างหนา ด้านล่างตามเส้นกลางใบมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลแดง ใบแก่เกลี้ยงเส้นแขนงใบข้างละ ๕-๘ เส้น ปลายจรดกันใกล้ขอบใบ ก้านใบยาว ๓-๕(-๘) มม. หูใบรูปไข่แกมรูปใบหอก ยาว ๕-๗ มม. ปลายแหลม หลุดร่วงเมื่อแก่

 ดอกแยกเพศต่างต้นหรือร่วมต้น ยาว ๒-๓ มม. ออกเหนือง่ามใบ ๓-๕ มม. ช่อดอกเพศผู้ออกรวมเป็นช่อกระจุกแยกแขนง ก้านช่อดอกยาวประมาณ ๕ มม. แต่ละช่อมี ๓-๔ ดอก เรียง ๒ ชั้น ดอกสีขาว ก้านดอกเรียวเล็ก ยาวประมาณ ๓ มม. กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ ๕ กลีบ กลีบเลี้ยงกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒ มม. ค่อนข้างเกลี้ยง กลีบดอกรูปขอบขนาน ยาวประมาณ ๒ มม. ด้านนอกมีขนเป็นมัน มีเกล็ดรูปขอบขนาน ยาวประมาณ ๑ มม. มีขนอุยสีขาว เกสรเพศผู้ ๕ อัน ก้านชูอับเรณูมีขน อับเรณูกึ่งรูปสี่เหลี่ยม ดอกเพศเมียออกเดี่ยว ๆ ก้านดอกยาวประมาณ ๑ ซม. กลีบเลี้ยงและกลีบดอกเหมือนดอกเพศผู้ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ สีเหลือง มีขนสั้นนุ่ม มี ๑ ช่อง มีออวุล ๒-๔ เม็ด ติดตามแนวตะเข็บ

 ผลแบบผลแห้งไม่แตก รูปกลมหรือกลมแป้น สีน้ำตาลแกมเขียว เส้นผ่านศูนย์กลาง (๒.๕-)๓-๔ ซม. ปลายมีติ่งเล็กน้อย ผนังผลด้านนอกแข็ง บาง มีรอยย่นเล็ก ๆ มีขนแข็ง ยาวประมาณ ๑ มม. มี ๒-๔ เมล็ด รูปโค้งนูน ยาว ๑-๑.๒ ซม.

 กระเบาใต้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยเฉพาะทางภาคใต้ ขึ้นตามป่าดิบและป่ารุ่น บริเวณเชิงเขาที่เป็นหินทราย ในต่างประเทศพบที่มาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กระเบาใต้
ชื่อวิทยาศาสตร์
Hydnocarpus nana King
ชื่อสกุล
Hydnocarpus
คำระบุชนิด
nana
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- King, George
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1840-1909)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางสาวกัลยา ภัทรหิรัญกนก