กระเบาค่าง

Hydnocarpus castanea Hook.f. & Thomson var. castanea

ชื่ออื่น ๆ
กระเบาแดง (ตรัง), กุลา (ปัตตานี), เบาดง (สตูล), หัวค่าง (ประจวบคีรีขันธ์)
ไม้ต้น ใบเรียงสลับ รูปขอบขนานแกมรีหรือรูปขอบขนาน ดอกแยกเพศต่างต้น ออกเดี่ยวหรือเป็นกระจุกสั้นตามง่ามใบสีขาว ผลแบบผลแห้งไม่แตก รูปกลมหรือแป้น

กระเบาค่างเป็นไม้ต้น สูง ๑๕-๓๐ ม. กิ่งก้านค่อนข้างสั้น เกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนานแกมรีหรือรูปขอบขนาน กว้าง ๕-๑๒ ซม. ยาว ๑๓-๓๕ ซม. ใบหนา ปลายค่อย ๆ สอบเรียวหรือเรียวแหลมทันที โคนสอบหรือมนเบี้ยวเล็กน้อยขอบเรียบ เส้นแขนงใบเยื้องกันข้างละ ๖-๘ เส้น เห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๑.๕-๒ ซม. ปลายทั้ง ๒ ข้างพองออก หูใบรูปขอบขนานแกมรี ยาวประมาณ ๔ มม. สีน้ำตาลแดงร่วงง่าย

 ดอกแยกเพศต่างต้น ออกเดี่ยวหรือเป็นกระจุกสั้น ๆ ตามง่ามใบของกิ่งอ่อนช่อละ ๒-๓ ดอก ก้านช่อดอกยาว ๒-๓ มม. ทั้งช่อมีขนสีน้ำตาลแดง ดอกสีขาว ดอกเพศผู้มีก้านดอกยาว ๒-๓ ซม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปไข่กลับ กว้าง ๔-๕ มม. ยาว ๖-๗ มม. ด้านในมีขน กลีบดอก ๕ กลีบ รูปขอบขนานแคบ กว้างประมาณ ๓ มม. ยาว ๐.๘-๑.๑ ซม. ที่โคนด้านในมีเกล็ดรูปแถบ กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๗ มม. มีขนที่ปลาย เกสรเพศผู้ ๕ อัน ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๓ มม. อับเรณูรูปหัวใจ ยาวประมาณ ๓ มม. ดอกเพศเมียมีก้านดอกยาว ๑.๕-๒.๕ ซม. กลีบเลี้ยงและกลีบดอกลักษณะเหมือนดอกเพศผู้ กลีบเลี้ยงกว้างประมาณ ๕ มม. ยาว ๐.๘-๑.๑ ซม. กลีบดอกกว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๑.๒-๑.๕ ซม. เกสรเพศผู้เป็นหมันรูปลิ่มกลับ ยาวประมาณ ๒ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปไข่ มีขนสีน้ำตาลอมเหลือง มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก

 ผลแบบผลแห้งไม่แตก รูปกลมหรือแป้น เส้นผ่านศูนย์กลาง ๔-๘ ซม. เปลือกแข็ง ผิวเรียบ มีขนคล้ายกำมะหยี่สีน้ำตาล เมื่อแก่เกลี้ยงและเป็นสะเก็ด มี ๒๐-๓๐ เมล็ด อัดแน่นเป็นเหลี่ยม กว้าง ๑.๘-๒.๕ ซม. ยาว ๒.๕-๓.๓ ซม.

 กระเบาค่างมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้ พบขึ้นในป่าดิบ ตามเขาหินปูนตามชายเขา ริมน้ำ และที่แฉะ บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๓๐-๒๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่พม่าและภูมิภาคมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กระเบาค่าง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Hydnocarpus castanea Hook.f. & Thomson var. castanea
ชื่อสกุล
Hydnocarpus
คำระบุชนิด
castanea
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Hooker, Joseph Dalton
- Thomson, Thomas
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
var. castanea
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- -
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Hooker, Joseph Dalton (1817-1911)
- Thomson, Thomas (1817-1878)
ชื่ออื่น ๆ
กระเบาแดง (ตรัง), กุลา (ปัตตานี), เบาดง (สตูล), หัวค่าง (ประจวบคีรีขันธ์)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.กัลยา ภราไดย