กระเบากลัก

Hydnocarpus ilicifolia King

ชื่ออื่น ๆ
กระเบาลิง (กลาง); กระเบียน, ขี้มอด (จันทบุรี); กระเบาซาวา (เขมร-จันทบุรี); กระเบาพนม (เขมร-สุรินทร์)
ไม้ต้น กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดง ใบเรียงสลับ รูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ดอกแยกเพศต่างต้น สีขาวหรือเหลืองอมเขียว ออกเป็นช่อกระจุกสั้นตามง่ามใบ ผลแบบผลแห้งไม่แตก รูปกลม มีขนกำมะหยี่สีน้ำตาลแดงหรือน้ำตาลดำ

กระเบากลักเป็นไม้ต้น สูง ๑๕-๒๐ ม. ลำต้นค่อนข้างเปลา กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดง กิ่งแก่เกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนานหรือรูปใบหอก กว้าง ๓-๗.๕ ซม. ยาว ๗.๕-๑๖ ซม. ปลายสอบเรียวหรือค่อนข้างเรียวแหลม โคนสอบหรือมน ขอบจักฟันเลื่อยห่าง ๆ ค่อนไปทางปลายใบ เส้นแขนงใบเยื้องกันข้างละ ๗-๑๐ เส้น เส้นแขนงใบและเส้นใบย่อยเห็นได้ชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาว ๐.๖-๑.๕ ซม.

 ดอกแยกเพศต่างต้น ออกเป็นช่อกระจุกสั้นตามง่ามใบช่อละ ๒-๑๐ ดอก ก้านช่อดอกยาวประมาณ ๑.๕ ซม. มีขนสีน้ำตาลแดง ดอกสีขาวหรือเหลืองอมเขียว กลีบเลี้ยง ๔ กลีบ ค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๔ มม. กลีบดอก ๔ กลีบ รูปขอบขนาน ปลายตัด ยาวไล่เลี่ยกับกลีบเลี้ยง มีขนที่ปลายกลีบ ด้านนอกเกลี้ยง ที่โคนด้านในมีเกล็ดรูปเกือบสี่เหลี่ยมดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ ๑๔-๒๐ อัน ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๕ มม. มีขน ดอกเพศเมียมีเกสรเพศผู้เป็นหมันประมาณ ๑๕ อัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปไข่ มีขนสีน้ำตาลแดง มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๔ แฉก

 ผลแบบผลแห้งไม่แตก รูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๔-๘ ซม. เปลือกแข็ง ผิวเรียบ มีขนนุ่มเหมือนกำมะหยี่สีน้ำตาลแดงหรือน้ำตาลดำ มี ๑๐-๑๕ เมล็ด รูปไข่ กว้าง ๑-๑.๕ ซม. ยาว ๑.๓-๒.๒ ซม. อัดกันแน่น

 กระเบากลักมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นในป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ตามเขาหินปูน และใกล้ชายทะเล บนพื้นที่ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึงสูงประมาณ ๘๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคอินโดจีนและแหลมมลายู.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กระเบากลัก
ชื่อวิทยาศาสตร์
Hydnocarpus ilicifolia King
ชื่ออื่น ๆ
กระเบาลิง (กลาง); กระเบียน, ขี้มอด (จันทบุรี); กระเบาซาวา (เขมร-จันทบุรี); กระเบาพนม (เขมร-สุรินทร์)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.กัลยา ภราไดย