กระเช้าหนู

Aristolochia helix Phuph.

ไม้ล้มลุก ทอดนอนบนพื้นดิน ลำต้นคดไปมา มีขนหนาแน่น ใบเรียงสลับ รูปหัวใจ ผิวด้านบนสาก ดอกสีม่วงอ่อน ผลแบบผลแห้งแตก รูปกลม เมื่อแก่แตกเป็นรูปคล้ายกระเช้า

กระเช้าหนูเป็นไม้ล้มลุก ทอดนอนบนพื้นดิน ลำต้นคดไปมา มีขนหนาแน่น

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปหัวใจ กว้างและยาว ๐.๘-๑.๔ ซม. ปลายแหลม เรียวแหลม หรือมน โคนเว้ารูปหัวใจ ขอบเรียบใบด้านบนสาก ด้านล่างมีขนนุ่ม เส้นโคนใบ ๓-๕ เส้น เส้นใบย่อยเห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๒-๕ มม.

 ดอกเดี่ยว ออกตามง่ามใบ ก้านดอกยาวประมาณ ๕ มม. มีขน ไม่มีใบประดับ วงกลีบรวมติดกัน โคนเป็นกระเปาะกลมหรือรูปไข่ กว้างและยาวประมาณ ๒ มม. เหนือกระเปาะเป็นหลอดสีน้ำตาลอ่อน กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๕-๙ มม. ปลายหลอดมีกลีบยื่นยาวออกไปคล้ายลิ้น รูปขอบขนาน ปลายมน สีม่วงแดงอมน้ำตาล กว้างประมาณ ๓ มม. ยาว ๗-๘ มม. เกสรเพศผู้ ๖ อัน ติดอยู่รอบเส้าเกสรที่กว้างและยาวประมาณ ๒ มม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ ยาวประมาณ ๓ มม. มีขน มี ๖ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๖ แฉก

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๗ มม. ก้านผลยาวประมาณ ๕ มม. เมื่อแก่แตกเป็นรูปคล้ายกระเช้า เมล็ดรูปไข่กลับหรือรูปหัวใจกลับ ไม่มีปีก ด้านหนึ่งมีตุ่มเล็กน้อยหรือเกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน

 กระเช้าหนูเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคใต้ที่ จ. กระบี่และพังงา ขึ้นตามเขาหินปูน

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กระเช้าหนู
ชื่อวิทยาศาสตร์
Aristolochia helix Phuph.
ชื่อสกุล
Aristolochia
คำระบุชนิด
helix
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Phuphathanaphong, Leena
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1936- )
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางลีนา ผู้พัฒนพงศ์