กระเช้าปากเป็ด

Aristolochia kerrii Craib

ชื่ออื่น ๆ
กระเช้านกเล็ก, เครือไก่น้อย
ไม้เถา ใบเรียงเวียน รูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ ช่อดอก แบบช่อกระจะ ออกตามง่ามใบ หลอดดอกและกระเปาะ เหลืองอมน้ำตาลอ่อน ปากหลอดสีม่วงแดง ใบประดับรูปใบหอก มีต่อมมาก ผลแบบผลแห้งแตก รูปไข่ มี ๖ สัน เมื่อแก่แตกเป็นรูปคล้ายกระเช้า

กระเช้าปากเป็ดเป็นไม้เถา ลำต้นมีขนสั้น

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่แกมรูปใบหอก รูปสามเหลี่ยม รูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ หรือรูปไข่ป้อม กว้าง ๔.๕-๖.๖ ซม. ยาว ๕.๒-๗.๔ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนตัดตรงหรือเว้ารูปหัวใจ ขอบเรียบ ใบด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนสั้นหนาแน่นตามเส้นแขนงใบและเส้นใบย่อย มีต่อมกระจายทั้ง ๒ ด้าน เส้นโคนใบประมาณ ๕ เส้น เส้นใบย่อยแบบเส้นร่างแหถี่นูนและเห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๒.๓-๓.๒ ซม. มีขนประปราย

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามง่ามใบ ยาว ๑.๕-๓ ซม. มีขนสั้น ใบประดับรูปใบหอก กว้าง ๒-๕ มม. ยาว ๐.๕-๑.๒ ซม. มีเส้นตามยาวประมาณ ๓ เส้น มีต่อมหนาแน่น ดอกสีเหลืองอมน้ำตาลอ่อน ก้านดอกยาว ๐.๘-๑.๑ ซม. วงกลีบรวมติดกันยาว ๑.๓-๒ ซม. โคนเป็นกระเปาะกลมหรือรูปไข่


กว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๓-๕ มม. เหนือกระเปาะเป็นหลอดกว้าง ๑-๒ มม. ยาว ๓-๘ มม. หลอดงอบริเวณที่ต่อจากกระเปาะ ปลายแผ่ออกคล้ายหัวลูกศร กว้าง ๐.๔-๑.๒ ซม. ยาว ๐.๗-๑.๔ ซม. เกสรเพศผู้ ๖ อัน ติดอยู่รอบเส้าเกสร อับเรณูรูปรี กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๖ มม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๒-๓ มม. มี ๖ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๖ แฉก ปลายมน ค่อนข้างสั้น

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปไข่ กว้าง ๑.๖-๑.๘ ซม. ยาว ๑.๘-๒.๒ ซม. มีสันตามยาว ๖ สัน ก้านผลยาว ๑.๘-๒.๒ ซม. เมื่อแก่แตกคล้ายรูปกระเช้า เมล็ดรูปไข่กลับ แบน ไม่มีปีกกว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๔-๕ มม. ผิวเป็นตุ่มทั้ง ๒ ด้าน

 กระเช้าปากเป็ดเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๔๕๐-๑,๓๗๐ ม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กระเช้าปากเป็ด
ชื่อวิทยาศาสตร์
Aristolochia kerrii Craib
ชื่อสกุล
Aristolochia
คำระบุชนิด
kerrii
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Craib, William Grant
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1882-1933)
ชื่ออื่น ๆ
กระเช้านกเล็ก, เครือไก่น้อย
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางลีนา ผู้พัฒนพงศ์