กระเจี๊ยบแดง

Hibiscus sabdariffa L.

ชื่ออื่น ๆ
กระเจี๊ยบเปรี้ยว (กลาง); ผักเกงเขง, ส้มเก๋งเคง, ส้มพอเหมาะ (เหนือ); ส้มตะเลงเครง (ตาก); ส้มปู๋ (แม่ฮ
ไม้ล้มลุก ลำต้นสีม่วงแดง ใบเรียงเวียน รูปไข่กลับ ดอกสีเหลืองอ่อน กลางดอกสีแดง มีริ้วประดับและกลีบเลี้ยงสีแดง มีรสเปรี้ยว กลีบเลี้ยงรูปถ้วยอวบหนา ผลรูปไข่ป้อม มีกลีบเลี้ยงที่ขยายใหญ่หุ้มผล

กระเจี๊ยบแดงเป็นไม้ล้มลุก สูง ๑-๒ ม. ลำต้นอ่อนสีเขียว เมื่อแก่สีม่วงแดง ผิวค่อนข้างเกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน ใบของต้นที่ยังเล็กและใบที่อยู่ใกล้ดอก บางใบมีแผ่นใบคล้ายรูปไข่ และมีขนาดเล็กกว่าใบโดยทั่วไปซึ่งมีแผ่นใบคล้ายรูปไข่กลับและมีขอบใบหยักเว้าลึก ๓-๕ หยัก แต่ละหยักกว้าง ๑.๕-๓ ซม. ยาว ๓-๘ ซม. ปลายหยักแหลม โคนมน เส้นโคนใบ ๓-๕ เส้น แผ่นใบด้านล่างมีเส้นใบนูนเด่นชัด โคนเส้นกลางใบมีต่อม ๑ ต่อม ก้านใบยาว ๔-๑๕ ซม. หูใบเป็นเส้นเรียว ยาว ๑.๘-๑.๕ ซม.

 ดอกใหญ่ สีเหลืองอ่อน กลางดอกสีแดง ออกเดี่ยวตามง่ามใบ มีขน ริ้วประดับเรียวแคบ สีแดง มี ๘-๑๒ เส้น ยาวประมาณ ๑ ซม. อยู่เป็นวงรอบกลีบเลี้ยง กลีบเลี้ยงโคนติดกันคล้ายถ้วย ปลายแยกเป็นแฉกรูปสามเหลี่ยมแหลม ๕ แฉก ยาว ๑-๒ ซม. แต่ละแฉกมีเส้นกลีบ ๓ เส้น โคนเส้น กลางกลีบมีต่อม ๑ ต่อม กลีบดอกใหญ่ สีเหลือง มี ๕ กลีบ รูปไข่กลับ กว้าง ๒-๓ ซม. ยาว ๓-๕ ซม. โคนกลีบสีแดงเข้มเกสรเพศผู้มีจำนวนมาก ก้านชูอับเรณูติดกันเป็นหลอดยาว ๑-๓ ซม. หุ้มเกสรเพศเมีย อับเรณูสีนวล ขนาดเล็ก มีจำนวนมากอยู่รอบหลอด รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาวปลายแยกเป็น ๕ แฉก ยอดเกสรเพศเมียสีม่วงแดง เป็นตุ่มเล็กและมีขน

 ผลสีแดง รูปไข่ป้อม ไม่เป็นฝักยาวอย่างกระเจี๊ยบ กว้าง ๑-๑.๕ ซม. ยาว ๑.๕-๒ ซม. มีกลีบเลี้ยงที่ขยายใหญ่ ยาว ๒-๕ ซม. รองรับอยู่จนผลแก่ เมล็ดสีน้ำตาล รูปไต ขนาด ๔-๖ มม.

 กระเจี๊ยบแดงเป็นพรรณไม้พื้นเมืองของทวีปแอฟริกา นำ เข้ามาปลูกในประเทศไทยนานแล้ว ปลูกได้ทั่วทุกภาค ในต่างประเทศปลูกกันทั่วไปในเขตร้อนและเขตกึ่งร้อนทั่วโลก

 ใบอ่อนและยอดมีรสเปรี้ยวเล็กน้อย ใช้ต้มหรือแกง ริ้วประดับและกลีบเลี้ยงมีรสเปรี้ยว มีคุณค่าทางอาหาร ใช้ทำเครื่องดื่ม เช่น ชา น้ำผลไม้ ไวน์ ตลอดจนใช้ทำอาหารหวานบางจำพวก เช่น แยม เมล็ดมีน้ำมันมาก เส้นใยจากต้นใช้ทำเชือกและกระสอบ (Thacker ed., 1959) ในไต้หวันใช้เมล็ดเป็นยาแผนโบราณเพื่อเป็นยาระบาย ยาขับปัสสาวะ และยาบำรุง (Perry and Metzger, 1980).

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กระเจี๊ยบแดง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Hibiscus sabdariffa L.
ชื่อสกุล
Hibiscus
คำระบุชนิด
sabdariffa
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl von
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1707-1778)
ชื่ออื่น ๆ
กระเจี๊ยบเปรี้ยว (กลาง); ผักเกงเขง, ส้มเก๋งเคง, ส้มพอเหมาะ (เหนือ); ส้มตะเลงเครง (ตาก); ส้มปู๋ (แม่ฮ
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์