กระเจี๊ยบละว้า

Abelmoschus crinitus Wall.

ไม้ล้มลุก ทุกส่วนมีขนสีเหลืองยาวและแข็ง ใบเรียงเวียนมีหลายรูปแบบ หูใบเป็นเส้นยาว มีริ้วประดับ ๑๕-๒๐ เส้น ยาวกว่าผล ดอกสีเหลือง กลางดอกสีม่วง ผลแบบผลแห้งแตกรูปไข่ มี ๕ สัน

กระเจี๊ยบละว้าเป็นไม้ล้มลุก สูงได้ถึง ๑.๕ ม. มีรากแก้วรูปกระสวย ทั้งต้นมีขนสีเหลือง แข็ง ยาว ๕-๖ มม. และมีขนเป็นมันชี้ตรงแซมประปราย

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน ใบใกล้โคนต้นเป็น ๕ เหลี่ยม กว้าง และยาวประมาณ ๙ ซม. ใบที่อยู่กลางต้นรูปหัวใจ ขอบจักใบที่อยู่ใกล้ยอดรูปหัวลูกศร กว้าง ๔-๖.๕ ซม. ยาว ๖-๑๔ ซม. มีขนยาวแข็งทั้ง ๒ ด้าน ตามเส้นใบมีขนยาวธรรมดาหรือขนยาวรูปดาว ก้านใบยาว ๔-๑๒ ซม. มีขนยาวแข็งสีเหลืองหนาแน่น หูใบรูปเส้นด้าย ยาว ๑.๕-๓ ซม. มีขนเหมือนก้านใบ

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามปลายกิ่งหรือตามง่ามใบ ใกล้ปลายกิ่ง แต่ละช่อมี ๓-๙ ดอก ดอกสีเหลือง กลางดอกสีม่วง เมื่อบานเส้นผ่านศูนย์กลาง ๖-๗ ซม. ก้านดอกยาว ๑.๕-๒ ซม. มีริ้วประดับคล้ายเส้นด้าย ๑๕-๒๐ เส้น กว้าง ๑-๒ มม. ยาว ๒-๓.๕ ซม. กลีบเลี้ยงติดกันคล้ายกาบ มีรอยผ่าด้านเดียวทำให้กาบเบี้ยวไปข้างหนึ่ง กลีบดอก ๕ กลีบ กว้าง ประมาณ ๔ ซม. ยาวประมาณ ๖.๕ ซม. เกสรเพศผู้ติดกันเป็นหลอดสีเหลือง ยาวประมาณ ๒ ซม. ปลายเป็น ๕ หยัก อับเรณูมีก้านสั้นติดทั่วหลอด รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปไข่กว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. มี ๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียปลายแยก ๕ แฉก ยอดเกสรเพศเมียกลม สีม่วง

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปไข่ กว้าง ๒.๕-๓ ซม. ยาว ๓-๔ ซม. เป็นสันเล็กน้อยตามยาว ๕ สัน มีเมล็ดมาก รูปกลมถึงรูปไต เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๔ มม.

 กระเจี๊ยบละว้ามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ พบตามป่าละเมาะที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๗๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่จีน อินเดีย เนปาล เวียดนาม ลาว และพม่า.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กระเจี๊ยบละว้า
ชื่อวิทยาศาสตร์
Abelmoschus crinitus Wall.
ชื่อสกุล
Abelmoschus
คำระบุชนิด
crinitus
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1786-1854)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางลีนา ผู้พัฒนพงศ์