กระเจาะ

Millettia leucantha Kurz var. leucantha

ชื่ออื่น ๆ
กระเจ๊าะ, ขะเจาะ, ขะเจ๊าะ, ชะแมบ, คำแมบ, สาธร (เหนือ); กระพี้เขาควาย (ประจวบคีรีขันธ์); กะเซาะ (กลาง
ไม้ต้น ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับ ใบย่อยรูปรีแกมรูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกพร้อมใบอ่อนตามง่ามใบและปลายกิ่ง ดอกสีขาว รูปดอกถั่ว ฝักรูปขอบขนาน เปลือกแข็ง เมื่อแก่แตกเป็น ๒ ซีก

กระเจาะชนิดนี้เป็นไม้ต้น สูง ๑๕-๑๘ ม. แต่อาจสูงได้ถึง ๒๐ ม. เรือนยอดค่อนข้างกลมหรือทรงกระบอก ใบอ่อนและยอดอ่อนมีขนนุ่มคล้ายไหม เปลือกสีเทา เรียบ หรือแตกเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ กระพี้สีขาวอมน้ำตาล แก่นสีน้ำตาลดำ

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับ ยาว ๒๐-๓๐ ซม. ใบย่อย ๕-๗ ใบ รูปขอบขนานหรือรูปรีแกมรูปขอบขนานกว้าง ๓-๓.๕ ซม. ยาว ๕-๑๒ ซม. ส่วนกว้างที่สุดอยู่ประมาณกึ่งกลาง แล้วค่อย ๆ เรียวสอบไปทางโคนและปลาย ปลายมนมีติ่งแหลม โคนรูปลิ่มหรือมน แผ่นใบด้านล่างสีจางกว่าด้านบน ใบแก่เกลี้ยง ก้านใบย่อยสั้น มีหูใบย่อยขนาดเล็ก ปลายแหลมใบละ ๑ คู่

 ช่อดอกออกพร้อมใบอ่อน ยาว ๑๕-๒๕ ซม. ดอกรูปดอกถั่ว สีขาว ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. กลีบเลี้ยง ๔ กลีบ ติดกันเป็นหลอดสั้น ๆ มีขนนุ่ม กลีบดอก ๕ กลีบ เกสรเพศผู้ ๑๐ อัน ก้านชูอับเรณูติดกันเป็นแผ่น รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีขน มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก

 ฝักรูปขอบขนาน คล้ายฝักมีด ปลายกว้างเรียวสอบลงมาทางโคน เปลือกแข็ง ฝักแก่แตกเป็น ๒ ซีก มี ๓-๔ เมล็ด สีน้ำตาลคล้ำ แบน เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑.๓ ซม.

 กระเจาะชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขึ้นใกล้ลำห้วยในป่าเบญจพรรณ ที่สูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน ๖๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่พม่าและลาว

 เนื้อไม้ใช้ทำเสาเรือน ขื่อ รอด ตง ล้อเกวียน เพลาเกวียน เครื่องเรือน บัวรองฝา ครก สาก กระเดื่อง ลูกหีบ ฯลฯ

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กระเจาะ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Millettia leucantha Kurz var. leucantha
ชื่อสกุล
Millettia
คำระบุชนิด
leucantha
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Kurz, Wilhelm Sulpiz
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
var. leucantha
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- -
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1834-1878)
ชื่ออื่น ๆ
กระเจ๊าะ, ขะเจาะ, ขะเจ๊าะ, ชะแมบ, คำแมบ, สาธร (เหนือ); กระพี้เขาควาย (ประจวบคีรีขันธ์); กะเซาะ (กลาง
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ชวลิต นิยมธรรม