กระเจาน้อย

Corchorus siamensis Craib

ชื่ออื่น ๆ
ปอ (ตะวันออกเฉียงใต้)
ไม้ล้มลุกปีเดียว ทุกส่วนมีขนประปราย ใบเรียงเวียน รูปไข่ ไม่มีรยางค์ ดอกออกเดี่ยวหรือรวมกันเป็นช่อกระจุกตามปลายกิ่งหรือตรงข้ามกับใบ สีขาว ผลแบบผลแห้งแตกคล้ายฝักรูปทรงกระบอก

กระเจาน้อยเป็นไม้ล้มลุกปีเดียว ลำต้นตั้งตรง สูงได้ถึง ๕๐ ซม. กิ่งแยกเป็นแขนงสั้นตามง่ามใบ ลำต้นมีขนสากประปราย

 ใบเดี่ยว เรียงเวียนห่าง ๆ รูปไข่ กว้าง ๑.๓-๓.๒ ซม. ยาว ๓-๗ ซม. ปลายเรียวแหลมหรือค่อนข้างแหลม โคนมน


หรือมนกว้าง ไม่มีรยางค์ ขอบจักฟันเลื่อยถึงจักฟันเลื่อยถี่แผ่นใบบาง มีขนรูปดาวประปรายทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๘ เส้น มีเส้นโคนใบ ๓ เส้น เส้นใบย่อยแบบเส้นร่างแหแกมเส้นขั้นบันได เห็นไม่ชัด ก้านใบยาว ๐.๕-๑.๒ ซม. มีขนรูปดาวประปราย

 ดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อกระจุก ออกตรงข้ามกับใบตามปลายกิ่ง สีขาว กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ ๕ กลีบ กลีบเลี้ยงรูปใบหอก กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. กลีบดอกรูปแถบหรือรูปไข่กลับ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๔ มม. เรียงสลับกับกลีบเลี้ยง เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก ออกรวมเป็น ๕ กลุ่มบนฐานนูนกลางดอก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปขอบขนาน มีขน มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ยอดเกสรเพศเมียเรียวแหลม

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอก กว้าง ๒-๓ มม. ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. ปลายหยักคอดแหลม แก่จัดแตกเป็น ๓ เสี่ยงตามยาว

 กระเจาน้อยเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ ขึ้นตามทุ่งนาและบริเวณน้ำท่วมขัง ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๕๐-๔๐๐ ม. เปลือกใช้ทำเชือก

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กระเจาน้อย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Corchorus siamensis Craib
ชื่อสกุล
Corchorus
คำระบุชนิด
siamensis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Craib, William Grant
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1882-1933)
ชื่ออื่น ๆ
ปอ (ตะวันออกเฉียงใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.จำลอง เพ็งคล้าย