กระหนกนฤมิต

Cercestis mirabilis (N.E.Br.) Bogner

ชื่ออื่น ๆ
กระหนกนารี, บอนลายกระหนก, แม้นเขียน
ไม้ล้มลุก ต้นทอดนอนหรือเลื้อยเกาะ ใบเรียงเวียน รูปลูกศร สีเขียวเข้มสลับสีนวลคล้ายลายกระหนก ดอกแยกเพศร่วมช่อ แบบช่อเชิงลดมีกาบ ผลรูปไข่

กระหนกนฤมิตเป็นไม้ล้มลุกมีข้อ เลื้อยทอดไปตามผิวดินข้อห่างกัน ๑๐-๑๕ ซม. น้ำยางสีขาวขุ่น

 ใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็นวงรอบข้ออย่างไม่มีระเบียบ แผ่นใบบาง รูปหัวลูกศร กว้างและยาวประมาณ ๒๐ ซม. ปลายแหลม โคนแยกห่างกันประมาณ ๑๕ ซม. ขอบโค้งเว้าหยักเป็นคลื่น ก้านใบยาว ๑๐-๔๐ ซม. เส้นใบสีเขียวเข้มพื้นระหว่างเส้นใบเป็นลายสีนวลคล้ายลายกระหนก ใบแก่เปลี่ยนเป็นสีเขียวไม่มีลาย ใบประดับสีเหลืองอ่อน ยาวประมาณ ๑๐ ซม. หุ้มปลีดอกหรือช่อดอกไว้

 ช่อดอกแบบช่อเชิงลดมีกาบ แยกเป็น ๒ ส่วน ส่วนบนเป็นช่อดอกเพศผู้สีเหลืองนวล ส่วนล่างเป็นช่อดอกเพศเมียสีชมพู รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ

 ผลรูปไข่ ยาวประมาณ ๑ ซม. ก้านช่อยาวประมาณ ๗ ซม. ที่ปลูกในประเทศไทยยังไม่เคยพบว่ามีดอก

 กระหนกนฤมิตเป็นไม้ประดับ มีถิ่นกำเนิดในแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก เช่น ประเทศไนจีเรีย แคเมอรูน คองโก ในสภาพธรรมชาติจะเลื้อยขึ้นต้นไม้ใหญ่โดยใช้รากเกาะ ใบใหญ่จะฉีกหรือมีรูโหว่บนใบ

 การขยายพันธุ์ใช้ดินกลบไหลที่เลื้อยอยู่รอบ ๆ ลำต้นจะได้หน่อเล็ก ๆ ซึ่งมีรากออกตามข้อ ตัดหน่อนำไปปลูก หรือบางครั้งมีหน่อเกิดรอบต้นใหญ่ก็ตัดออกปลูกได้.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กระหนกนฤมิต
ชื่อวิทยาศาสตร์
Cercestis mirabilis (N.E.Br.) Bogner
ชื่อสกุล
Cercestis
คำระบุชนิด
mirabilis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Brown, Nicholas Edward
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Brown, Nicholas Edward (1849-1934)
ชื่ออื่น ๆ
กระหนกนารี, บอนลายกระหนก, แม้นเขียน
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ.จิรายุพิน จันทรประสงค์