กระพี้เครือ

Dalbergia foliacea Wall. ex Benth.

ชื่ออื่น ๆ
ประดู่แล้ง (เลย), หางไหลเถา (ราชบุรี)
ไม้เถาเนื้อแข็ง ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับใบย่อยรูปไข่กลับหรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน ปลายใบมักเว้าเล็กน้อย ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่ง ดอกรูปดอกถั่ว สีขาว ฝักแบน ปลายแหลม ฝักแก่ไม่แตก

กระพี้เครือเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง พาดพันตามต้นไม้ใหญ่ไปได้ไกล กิ่งอ่อนมีขนเล็กน้อย กิ่งแก่เกลี้ยง

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับ ยาว ๙-๑๕ ซม. มีใบย่อย ๕-๗ ใบ เรียงสลับ รูปไข่กลับหรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๒-๓ ซม. ยาว ๓.๔-๖.๕ ซม. ปลายมนเว้าตรงกลางเล็กน้อยหรือมีติ่งแหลมสั้น ๆ โคนมน ขอบเรียบแผ่นใบหนา ใบอ่อนมีขนประปรายทางด้านล่าง ก้านใบย่อยยาว ๓-๖ มม.

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่ง ยาว ๕-๑๐ ซม. ดอกเล็ก รูปดอกถั่ว สีขาว มีจำนวนมาก กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ ติดกันเป็นหลอดสั้น ๆ มีขนเล็กน้อย กลีบดอก ๕ กลีบ โคนกลีบเรียวลงเป็นก้านกลีบดอก เกสรเพศผู้ ๙ อัน ก้านชูอับเรณูติดกันเป็นแผ่น รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปไข่กลับมีขนประปราย มี ๑ ช่อง มีออวุล ๒ เม็ด

 ฝักแบน รูปขอบขนาน กว้าง ๑.๔-๒ ซม. ยาว ๓.๕-๗ ซม. ปลายแหลมหรือมน มีลายร่างแหบริเวณเมล็ดชัดเจนฝักแก่ไม่แตก มี ๑-๒ เมล็ด รูปไต แบน กว้างประมาณ ๑.๒ ซม. ยาวประมาณ ๙ มม.

 กระพี้เครือมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑๕๐-๑๗๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดีย พม่า ลาว และเวียดนาม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กระพี้เครือ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Dalbergia foliacea Wall. ex Benth.
ชื่อสกุล
Dalbergia
คำระบุชนิด
foliacea
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel
- Bentham, George
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel (1786-1854)
- Bentham, George (1800-1884)
ชื่ออื่น ๆ
ประดู่แล้ง (เลย), หางไหลเถา (ราชบุรี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.ธวัชชัย สันติสุข