กระพี้เขาควาย

Dalbergia cultrata Graham ex Benth.

ชื่ออื่น ๆ
กระพี้ (กลาง); กำพี้ (เพชรบูรณ์); กำพี้เขาควาย, แดงดง (เลย); เก็ดเขาควาย (เหนือ); อีเม็งใบมน (อุดรธา
ไม้ต้น ผลัดใบ ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ใบย่อยรูปไข่กลับ ปลายมักเว้าเล็กน้อย ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบ ดอกรูปดอกถั่ว สีขาวอมชมพู ฝักแบนปลายมีติ่งแหลม ฝักแก่ไม่แตก

กระพี้เขาควายเป็นไม้ต้น ผลัดใบ สูง ๑๕-๒๕ ม. เรือนยอดเป็นพุ่มกลมยาว ค่อนข้างโปร่ง เปลือกสีเทานวลเรียบหรือแตกเป็นสะเก็ดตื้น ๆ กิ่งอ่อนมีขน

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับ ยาว ๙-๑๘ ซม. มีใบย่อย ๗-๑๓ ใบ เรียงสลับ รูปไข่กลับหรือรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๑.๕-๒.๒ ซม. ยาว ๒.๕-๔.๗ ซม. ส่วนกว้างที่สุดอยู่ค่อนไปทางปลายใบซึ่งมนและเว้าตรงกลางเล็กน้อย โคนสอบมน ก้านใบย่อยยาว ๒-๔ มม.

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบใกล้ยอดมีดอกดกดูคล้ายเป็นกระจุก ดอกรูปดอกถั่ว สีขาวอมชมพู กลีบเลี้ยงเด็ก ติดกันคล้ายรูปถ้วยตื้น ๆ กลีบดอก ๕ กลีบ กลีบคู่ล่างเชื่อมติดกัน เกสรเพศผู้ ๙ อัน ก้านชูอับเรณูติด กันเป็นแผ่น รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปไข่กลับ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๒-๓ เม็ด

 ฝักแบน รูปคล้ายกระสวย กว้างประมาณ ๒ ซม. ยาว ๕-๑๐ ซม. ปลายและโคนมน มักมีติ่งแหลมสั้น ๆ ที่ปลายฝักตรงหรือโค้งงอเล็กน้อย ตามผนังมีลายร่างแหชัดเจน ฝักแก่ไม่แตก เมล็ดสีน้ำตาล คล้ายรูปไต กว้างประมาณ ๖ มม. ยาวประมาณ ๘ มม. ส่วนมากมีเพียงเมล็ดเดียว ฝักที่มี ๒-๓ เมล็ด พบน้อยมาก

 กระพี้เขาควายมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ ขึ้นตามป่าเบญจพรรณและป่าทุ่งที่ค่อนข้างชุ่มชื้นทั่วไป ตามเชิงเขาจนถึงพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๑,๒๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่พม่าและลาว

 เนื้อไม้ละเอียด สีคล้ำค่อนข้างดำ แข็ง และหนักมาก ทนทาน ใช้ทำเครื่องเรือน เสา ไม้บุผนัง เครื่องกลึง เครื่องแกะสลัก ด้ามเครื่องมือต่าง ๆ พานท้ายปืน และเครื่องดนตรีไทย เช่น กลอง โทน รํามะนา จะเข้ รางและลูกระนาด กรับ และขาฆ้องวง ได้สวยงามและมีราคาแพง.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กระพี้เขาควาย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Dalbergia cultrata Graham ex Benth.
ชื่อสกุล
Dalbergia
คำระบุชนิด
cultrata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Graham, Robert C.
- Bentham, George
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Graham, Robert C. (1786-1845)
- Bentham, George (1800-1884)
ชื่ออื่น ๆ
กระพี้ (กลาง); กำพี้ (เพชรบูรณ์); กำพี้เขาควาย, แดงดง (เลย); เก็ดเขาควาย (เหนือ); อีเม็งใบมน (อุดรธา
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.ธวัชชัย สันติสุข