กระพี้หยวก

Dalbergia lanceolaria L.f. var. lakhonensis (Gagnep.) Niyomdham

ชื่ออื่น ๆ
กะปี (สุรินทร์), อีเม็ง (อุบลราชธานี)
ไม้ต้น ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับ ใบย่อยรูปรีถึงรูปขอบขนานแกมรี ใบอ่อนมีขนทั้ง ๒ ด้าน ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ดอกรูปดอกถั่ว สีเหลืองอ่อน ฝักแบน รูปใบหอกถึงรูปขอบขนานแก่จัดไม่แตก

กระพี้หยวกเป็นไม้ต้น สูง ๒๐-๒๕ ม. เรือนยอดค่อนข้างกลม เปลือกนอกสีเทาแกมเขียว ค่อนข้างเรียบหรือเป็นหลุมตื้น ๆ เปลือกในสีเหลืองอมชมพู ขอบสีเขียว หนาประมาณ ๑.๕ ซม.

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับ ยาว ๑๐-๒๕ ซม. มีใบย่อย ๗-๙ ใบ เรียงสลับ รูปรีถึงรูปขอบขนานแกมรี กว้าง ๑.๕-๒ ซม. ยาว ๒.๕-๓ ซม. ปลายมนและหยักเว้าโคนสอบ ใบอ่อนมีขนทั้ง ๒ ด้าน แต่มักร่วงไปเมื่อใบแก่

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ยาว ๕-๑๐ ซม. ดอกรูปดอกถั่ว สีเหลืองอ่อน ขนาดเล็กกลีบเลี้ยง ๕ กลีบ ติดกันเป็นรูปถ้วย กลีบดอก ๕ กลีบ เกสรเพศผู้ ๑๐ อัน ก้านชูอับเรณูแยกเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มละ ๕ อัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีขนตามรอยประสาน มีออวุล ๒-๔ เม็ด

 ฝักแบน รูปใบหอกถึงรูปขอบขนาน กว้าง ๑.๕-๒ ซม. ยาว ๘-๑๕ ซม. ปลายแหลม โคนเรียว แคบ เปลือกฝักตรง กระพุ้งเมล็ดหนาและแข็งกว่าบริเวณอื่น มี ๑-๔ เมล็ด สีน้ำตาล รูปไต แบน กว้างประมาณ ๘ มม. ยาวประมาณ ๕ มม.

 กระพี้หยวกมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๗๕-๕๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่ลาว.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กระพี้หยวก
ชื่อวิทยาศาสตร์
Dalbergia lanceolaria L.f. var. lakhonensis (Gagnep.) Niyomdham
ชื่อสกุล
Dalbergia
คำระบุชนิด
lanceolaria
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl von
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
var. lakhonensis
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- (Gagnep.) Niyomdham
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1741-1783)
ชื่ออื่น ๆ
กะปี (สุรินทร์), อีเม็ง (อุบลราชธานี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ชวลิต นิยมธรรม