กระปรอกเล็ก

Drynaria rigidula (Sw.) Bedd.

ชื่ออื่น ๆ
กระปรอกหัวหิน (จันทบุรี); กูดตั่ง (เชียงใหม่); กูดเฟือย, กูดไม้, กูดอ้อม (เหนือ); กูดหางม้า (แม่ฮ่อง
เฟิร์นอิงอาศัย เหง้ายาว ใบไม่สร้างอับสปอร์รูปใบหอกขอบหยักเว้าแหลม ใบสร้างอับสปอร์เป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ใบย่อยรูปขอบขนาน กลุ่มอับสปอร์กลมเรียงขนานเป็นระเบียบใกล้เส้นกลางใบย่อย

 กระปรอกเล็กเป็นเฟิร์นอิงอาศัย เหง้าทอดยาว เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๖-๑ ซม. มีเกล็ดฐานกลม สีน้ำตาลอ่อนหรือน้ำตาลเข้ม กว้าง ๑-๒ มม. ยาว ๐.๗-๑ ซม. ปลายค่อย ๆ เรียว ขอบเกล็ดมีขน

 ใบมีลักษณะแตกต่างกัน ๒ ชนิด ใบไม่สร้างอับสปอร์เป็นใบเดี่ยว รูปใบหอก กว้าง ๖-๑๒ ซม. ยาว ๑๐-๓๕ ซม. ขอบหยักเว้าเข้าหาเส้นกลางใบ ลึกประมาณ ๑ ใน ๓ จากขอบใบ เส้นใบนูนเป็นสันชัดเจนทั้ง ๒ ด้าน เมื่อแตกใบใหม่จะมีสีเขียวและมีขนรูปดาว เมื่อเจริญเต็มที่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและแห้งติดอยู่กับต้น ใบสร้างอับสปอร์เป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ รูปขอบขนาน กว้าง ๒๐-๓๐ ซม. ยาวได้มากกว่า ๑ ม. ก้านใบสีน้ำตาลแดงถึงน้ำตาลอมม่วง มีขนใบย่อยมีประมาณ ๔๐ คู่ รูปขอบขนาน กว้าง ๐.๘-๑.๔ ซม. ยาว ๑๕-๒๕ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนสอบ ขอบจัก เส้นกลางใบสีซีดเชื่อมต่อกับแกนกลาง มีก้านสั้นหรือไม่มี เส้นใบนูนเห็นชัดเจนทั้ง ๒ ด้าน กลุ่มอับสปอร์กลม เรียงเป็นระเบียบขนานและใกล้กับเส้นกลางใบย่อยทางด้านล่างของแผ่นใบ เมื่อใบแก่และแห้งจะหลุดเหลือก้านใบและแกนกลางติดอยู่กับลำต้น

 กระปรอกเล็กมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นบนไม้ต้นหรือขึ้นบนก้อนหินในป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบเขา บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๔๐๐-๑,๓๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่พม่า ภูมิภาคอินโดจีน ภูมิภาคมาเลเซีย ภูมิภาคโปลินีเซีย และเขตศูนย์สูตรของออสเตรเลีย

 ชาวเกาะเชลีเบสกินใบอ่อนเป็นผัก เฟิร์นชนิดนี้ปลูกเป็นไม้ประดับได้

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กระปรอกเล็ก
ชื่อวิทยาศาสตร์
Drynaria rigidula (Sw.) Bedd.
ชื่อสกุล
Drynaria
คำระบุชนิด
rigidula
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Swartz, Olof (Peter)
- Beddome, Richard Henry
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Swartz, Olof (Peter) (1760-1818)
- Beddome, Richard Henry (1830-1911)
ชื่ออื่น ๆ
กระปรอกหัวหิน (จันทบุรี); กูดตั่ง (เชียงใหม่); กูดเฟือย, กูดไม้, กูดอ้อม (เหนือ); กูดหางม้า (แม่ฮ่อง
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.ทวีศักดิ์ บุญเกิด