กระบือเจ็ดตัว

Excoecaria cochinchinensis Lour. var. cochinchinensis

ชื่ออื่น ๆ
กะบือ, กำลังกระบือ, ลิ้นกระบือ (กลาง); ใบท้องแดง (ตะวันออกเฉียงใต้)
ไม้พุ่ม มียางขาว ใบเรียงตรงข้ามและเรียงสลับ รูปรี รูปไข่ หรือรูปไข่กลับ แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างสีม่วงแดง ดอกเล็ก แยกเพศต่างต้น ช่อดอกเพศผู้มีดอกจำนวนมาก ช่อดอกเพศเมียสั้นกว่า มี ๓-๖ ดอก

 กระบือเจ็ดตัวเป็นไม้พุ่ม สูงได้ถึง ๑.๕ ม. มียางขาว

 ใบเดี่ยว มีทั้งเรียงตรงข้ามและเรียงสลับ รูปรี รูปไข่ หรือรูปไข่กลับ กว้าง ๑.๕-๔ ซม. ยาว ๔-๑๒ ซม. ปลายแหลมโคนสอบ ขอบจักฟันเลื่อย แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างสีม่วงแดงหรือม่วงน้ำตาล เส้นแขนงใบข้างละ ๗-๑๒ เส้น ก้านใบยาว ๐.๕-๑.๕ ซม.

 ดอกแยกเพศต่างต้น ออกตามง่ามใบ ข้างใบ หรือปลายกิ่ง ยาว ๑-๒ ซม. ช่อดอกเพศผู้มีดอกเล็ก ๆ จำนวนมาก ก้านดอกสั้น โคนก้านมีใบประดับเล็ก ๆ กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ เล็กมาก เกสรเพศผู้เล็กมาก มี ๓ อัน ช่อดอกเพศเมียสั้นกว่า ช่อดอกเพศผู้และมีดอกเล็ก ๆ ๓-๖ ดอก ก้านดอกยาว ๒-๕ มม. โคนก้านมีใบประดับเล็ก ๆ และมีต่อมเล็ก ๆ สีเหลืองกลีบเลี้ยงเล็ก มี ๓ กลีบ รูปไข่ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ สีเขียว อมชมพู มี ๓ ช่อง ก้านยอดเกสรเพศเมียมี ๓ อัน ขนาดเล็ก

 ผลเล็ก ค่อนข้างกลม มี ๓ พู

 กระบือเจ็ดตัวปลูกเป็นไม้ประดับในประเทศไทยทั่วทุกภาคในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคอินโดจีน

 ใบและรากใช้ทำยาได้ ในอินโดนีเซียใช้ยางเบื่อปลา (Burkill, 1966).

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กระบือเจ็ดตัว
ชื่อวิทยาศาสตร์
Excoecaria cochinchinensis Lour. var. cochinchinensis
ชื่อสกุล
Excoecaria
คำระบุชนิด
cochinchinensis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Loureiro, João de
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
var. cochinchinensis
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- -
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1717-1791)
ชื่ออื่น ๆ
กะบือ, กำลังกระบือ, ลิ้นกระบือ (กลาง); ใบท้องแดง (ตะวันออกเฉียงใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์