กระบากดำ

Shorea farinosa C.E.C.Fisch.

ชื่ออื่น ๆ
เคียนทราย (กระบี่, ตรัง); ตะบากดำ (สุราษฎร์ธานี); มะรันตีสะตา (มลายู-สตูล); ยอมกำ, เหล็กปัก (ตรัง);
ไม้ต้น ใบเรียงสลับ รูปขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ดอกสีเหลือง กลิ่นหอม ผลแบบผลแห้งไม่แตกรูปกลม มีปีกยาว ๓ ปีก ปีกสั้น ๒ ปีก

กระบากดำเป็นไม้ต้น สูง ๒๐-๕๐ ม. ลำต้นเปลา เรือนยอดเป็นพุ่มกลมทึบ เปลือกสีน้ำตาลแก่ แตกเป็นร่องตามยาวลำต้น เปลือกในสีเหลือง กิ่งอ่อนมีขนทั่วไป กิ่งแก่เกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้าง ๓.๕-๗ ซม. ยาว ๘-๑๖ ซม. โคนและปลายมน ขอบเรียบ เส้นแขนงใบข้างละ ๑๑-๑๔ เส้น ปลายจรดกันก่อนถึงขอบใบ แผ่นใบด้านบนเกลี้ยงเป็นมัน เส้นกลางใบเป็นร่องและมีขนละเอียด ส่วนด้านล่างเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบนูนเห็นเด่นชัด ตามเส้นแขนงใบและเส้นใบมีนวล ตรงมุมระหว่างเส้นแขนงใบกับเส้นกลางใบมีขนเป็นกระจุกเล็ก ๆ เส้นใบย่อยเห็นไม่ชัด ก้านใบยาว ๒-๓.๕ ซม. ผิวย่นเล็กน้อยหูใบรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบและปลายกิ่งดอกสีเหลือง กลิ่นหอม ออกด้านเดียวและเรียงห่าง ๆ กัน ระยะที่ออกดอกใบมักร่วง ก้านดอกสั้นมากหรือไม่มีก้าน ต่อมาก้านดอกอาจยาวขึ้นบ้าง แต่ส่วนใหญ่มักจะสั้น กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปไข่แกมรูปหัวใจ ยาว ๖-๗ มม. โคนกลีบติดกัน กลีบชั้นนอก ๒ กลีบ โคนกลีบขนาดไม่เท่ากัน ปลายกลีบมน กลีบชั้นใน ๓ กลีบ ปลายกลีบแหลม ด้านนอกมีขนรูปดาว นุ่มหนาคล้ายกำมะหยี่ ด้านในมีขนเช่นเดียวกัน ยกเว้นส่วนโคนเกลี้ยง กลีบดอก ๕ กลีบ เรียงซ้อนเวียนกันคล้ายกังหัน รูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๗ มม. ยาว ๑.๒-๑.๓ ซม. ค่อนข้างกว้าง ด้านซ้ายและด้านขวาไม่เท่ากัน ปลายกลีบมน ส่วนที่กว้างที่สุดของกลีบดอกมีเส้นประมาณ ๑๕ เส้น เมื่อดอกยังตูมอยู่ส่วนของกลีบดอกที่อยู่ด้านนอกมีขนยาวสีขาวคล้ายไหม ขอบกลีบมีขน ส่วนอื่นของกลีบดอกเกลี้ยง เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก ยาว ๖-๗ มม. ก้านชูอับเรณูแบน โคนก้านแผ่กว้างเป็นรูปไข่ ปลายก้านเรียวเล็กเหมือนเส้นด้ายรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ยาวประมาณ ๖ มม. รูปรี มีขนละเอียดมี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวไล่เลี่ยกับรังไข่ ยอดเกสรเพศเมียมี ๓ หยัก

 ผลแบบผลแห้งไม่แตก รูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑.๕ ซม. ปลายเป็นติ่งแหลม มีปีกซึ่งเจริญมาจากกลีบเลี้ยงเป็นปีกยาว ๓ ปีก ปีกสั้น ๒ ปีก ปีกไม่เชื่อมติดกับตัวผล ปีกยาวรูปขอบขนาน กว้าง ๑.๕-๒.๕ ซม. ยาว ๘-๑๑ ซม. โคนปีกคอด ปลายปีกบน มีเส้นปีก ๑๑-๑๓ เส้น เรียงขนานกันตามยาว และมีเส้นเชื่อมติดกันตามขวาง ผล และปีกเมื่อแก่สีน้ำตาล

 กระบากคำมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้ ขึ้นตามป่าดิบ ออกดอกประมาณเดือนมกราคมถึงมีนาคม เป็นผลเดือนกุมภาพันธ์ ในต่างประเทศพบที่พม่าตอนใต้และมาเลเซีย

 เนื้อไม้ค่อนข้างหยาบ เป็นมัน สีเหลืองหรือเหลืองอมน้ำตาล เมื่อถูกอากาศนาน ๆ สีจะเข้มขึ้น เสี้ยนตรง เลื่อยยาก ใช้ทำเสา รอด สะพาน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กระบากดำ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Shorea farinosa C.E.C.Fisch.
ชื่อสกุล
Shorea
คำระบุชนิด
farinosa
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Fischer, Cecil Ernest Claude
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1874-1950)
ชื่ออื่น ๆ
เคียนทราย (กระบี่, ตรัง); ตะบากดำ (สุราษฎร์ธานี); มะรันตีสะตา (มลายู-สตูล); ยอมกำ, เหล็กปัก (ตรัง);
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางลีนา ผู้พัฒนพงศ์