กระบาก

Anisoptera costata Korth.

ชื่ออื่น ๆ
กระบากขาว (ชลบุรี, ชุมพร, ระนอง); กระบากโคก (ตรัง); กระบากช่อ, กระบากด้าง, กระบากดำ (ชุมพร); กระบากแ
ไม้ต้น โคนต้นมักเป็นพอน เปลือกแตกเป็นร่องหรือเป็นสะเก็ด ใบเรียงสลับ รูปไข่กลับหรือรูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ดอกเล็ก สีขาวอมเหลือง ผลเป็นผลแห้งไม่แตก รูปกลม มีกลีบเลี้ยงเป็นปีก

กระบากเป็นไม้ต้น สูง ๒๐-๓๐ ม. เรือนยอดเป็นพุ่มกลม ลำต้นเปลา โคนต้นมักเป็นพอน เปลือกหนา สีน้ำตาลแกมเทา แตกเป็นร่องหรือเป็นสะเก็ด เปลือกในเป็นชั้น ๆ สีเหลืองอ่อนอมน้ำตาล กระพี้สีขาวอมเหลือง แก่นสีน้ำตาลอมเหลืองอ่อนจนถึงสีน้ำตาลคล้ำ

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่กลับหรือรูปขอบขนาน กว้าง ๓-๘ ซม. ยาว ๖-๑๗ ซม. ปลายมนหรือแหลมเป็นติ่งสั้น ๆ โคนมนหรือเว้าเล็กน้อย ส่วนใหญ่โคนใบแคบกว่าปลายใบขอบเรียบ เส้นแขนงใบข้างละ ๑๒-๑๙ เส้น ปลายจรดกันก่อนถึงขอบใบ แผ่นใบหนา ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนสีน้ำตาลอมเหลือง ก้านใบยาว ๑.๓-๑.๖ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ยาวประมาณ ๑๐ ซม. ดอกเล็ก สีขาวอมเหลือง เมื่อบานเต็มที่เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ ซม. ก้านช่อดอก ก้านดอก และกลีบเลี้ยงมีขนนุ่ม กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ เรียวแหลม ยาวไล่เลี่ยกัน โคนติดกันเป็นหลอด โคนหลอดเชื่อมติดกับฐานรังไข่ กลีบดอก ๕ กลีบ เรียงซ้อนเวียนกัน เกสรเพศผู้มีจำนวนมากอับเรณูรูปขอบขนาน ยาวประมาณ ๒ มม. รังไข่กึ่งใต้วงกลีบมี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด

 ผลเป็นผลแห้งไม่แตก รูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ประมาณ ๑ ซม. มีกลีบเลี้ยงเป็นปีก ปีกยาวรูปไข่กลับ มี ๒ ปีก กว้าง ๑-๒ ซม. ยาว ๓-๑๐ ซม. โคนสอบเรียว มีเส้นปีกตามยาว ๓ เส้น เห็นเด่นชัด ปีกสั้นมี ๓ ปีก เรียวแหลม ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. หลอดกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกับผิวของผล

 กระบากมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคขึ้นตามลาดเขาและริมลำธารในป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณชื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑๐๐-๔๐๐ ม. ออกดอกประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ ในต่างประเทศพบที่พม่า ภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซีย และฟิลิปปินส์

 ไม้ใช้ทำแบบเทคอนกรีต พื้น แจว พาย กรรเชียง สัน แปรง ลังใส่ของ โลงศพ ไม้บาง และไม้อัด ชั้นใช้ผสมน้ำมันทาไม้ ทำน้ำมันชักเงาอย่างดี ใช้ยาแนวเรือ ฯลฯ

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กระบาก
ชื่อวิทยาศาสตร์
Anisoptera costata Korth.
ชื่อสกุล
Anisoptera
คำระบุชนิด
costata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Korthals, Pieter Willem
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1807-1892)
ชื่ออื่น ๆ
กระบากขาว (ชลบุรี, ชุมพร, ระนอง); กระบากโคก (ตรัง); กระบากช่อ, กระบากด้าง, กระบากดำ (ชุมพร); กระบากแ
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางลีนา ผู้พัฒนพงศ์