กระทุ่มหูกวาง

Neonauclea sessilifolia (Roxb.) Merr.

ชื่ออื่น ๆ
ตับควาย, ตุ้มบึง, ตุ้มโป่ง, ตุ้มหูกวาง, อ้อล่อหูกวาง (เหนือ); ตับเต่า, ตานควาย (อุบลราชธานี); ตับเต่
ไม้ต้น ผลัดใบ ใบเรียงตรงข้าม รูปรีแกมรูปไข่ หูใบร่วงง่าย ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น กลม ออกตามปลายกิ่งเป็นช่อเดี่ยวหรืออาจมีถึง ๓ ช่อ ดอกเล็ก สีเหลืองอ่อน ผลแบบ ผลแห้ง ออกรวมกันเป็นกลุ่ม เมล็ดมีปีก

กระทุ่มหูกวางเป็นไม้ต้น ผลัดใบ สูงไม่เกิน ๘ ม. ลำต้นค่อนข้างเปลา เปลือกนอกสีน้ำตาลอมเทา เรียบหรือแตกล่อนเป็นสะเก็ดบ้าง เปลือกในสีแดงเรื่อ ๆ เรือนยอดแผ่กว้าง ค่อนข้างทึบ ปลายกิ่งมักลู่ลงเล็กน้อย กิ่งอ่อนเกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรีแกมรูปไข่ กว้าง ๗-๑๓ ซม. ยาว ๘-๒๒ ซม. ปลายและโคนมน ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบหนา ด้านล่างสีจางกว่าด้านบน เส้นกลางใบและเส้นแขนงใบเห็นได้ชัดทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๘ เส้น ปลายจรดกับเส้นถัดไปก่อนถึงขอบใบแต่เห็นไม่ค่อยชัด ก้านใบสั้นมาก หูใบระหว่างก้านใบ ๑ คู่ ประกบกัน รูปไข่หรือรูปลิ้น กว้างประมาณ ๗ มม. ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. ร่วงง่ายเหลือเฉพาะที่ยอด

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น กลม ออกตามปลายกิ่งเป็นช่อเดี่ยวหรืออาจมีถึง ๓ ช่อ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๒-๒.๕ ซม. ดอกเล็ก สีเหลืองอ่อนกลิ่นหอม กลีบเลี้ยงติดกันเป็นหลอดหรือกรวยเล็ก ๆ ปลายแยกเป็น ๕ แฉก เห็นได้ชัด กลีบดอกโคนติดกันเป็นหลอดปลายแยกเป็น ๕ แฉก เกสรเพศผู้ ๕-๖ อัน รังไข่อยู่ใต้วง กลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก

 ผลแบบผลแห้ง สีเหลือง รวมอัดกันกลม เส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน ๓ ซม. เมล็ดคล้ายรูปรี สอบแคบมาทางโคน และมีปีกบาง ๆ

 กระทุ่มหูกวางมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคขึ้นตามป่าเบญจพรรณที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๕๐-๓๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลระหว่างเดือนสิงหาคมถึงธันวาคมในต่างประเทศพบที่พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และมาเลเซีย


 เนื้อไม้ละเอียด เลื่อยไสกบตกแต่งง่าย มีลายเนื้อไม้สวยนิยมใช้ทำเครื่องแกะสลัก ทำรางและพานท้ายปืน เป็นต้น

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กระทุ่มหูกวาง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Neonauclea sessilifolia (Roxb.) Merr.
ชื่อสกุล
Neonauclea
คำระบุชนิด
sessilifolia
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William
- Merrill, Elmer Drew
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William (1751-1815)
- Merrill, Elmer Drew (1876-1956)
ชื่ออื่น ๆ
ตับควาย, ตุ้มบึง, ตุ้มโป่ง, ตุ้มหูกวาง, อ้อล่อหูกวาง (เหนือ); ตับเต่า, ตานควาย (อุบลราชธานี); ตับเต่
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.จำลอง เพ็งคล้าย