กระทุงหมาบ้า

Dregea volubilis (L.f.) Hook.f.

ชื่ออื่น ๆ
กระทงหมาบ้า, คันชุนสุนัขบ้า (กลาง); เครือเขาคลอน (อุบลราชธานี); เครือเขาหมู (เหนือ); ผักง่วนหมู, ต้น
ไม้เถาเนื้อแข็ง กิ่งมีปุ่มปมและช่องอากาศ ทุกส่วนมียางขาว ใบเรียงตรงข้าม รูปไข่หรือค่อนข้างกลม ช่อดอกคล้ายช่อซี่ร่ม ออกตามง่ามใบ ดอกสีเขียวอ่อน กลีบบิดเวียน ฝักเป็นฝักคู่ คล้ายทรงกระบอกปลายแหลม มีครีบตามยาวแตกแนวเดียว เมล็ดรูปไข่ มีพู่สีขาวที่ปลาย ขอบเป็นครีบ

กระทุงหมาบ้าเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง ยาวได้ถึง ๑๐ ม. มียางขาว เถาอ่อนสีเขียว เถาแก่สีน้ำตาล กิ่งมีปุ่มปมและมีช่องอากาศ

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่หรือค่อนข้างกลม กว้าง ๕-๑๐ ซม. ยาว ๗.๕-๑๕ ซม. ปลายแหลม โคนเว้าหรือป้านก้านใบยาวประมาณ ๔ ซม.

 ช่อดอกคล้ายช่อซี่ร่ม ออกตามง่ามใบหรือระหว่างก้านใบดอกสีเขียวอ่อน เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ ซม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ กลีบดอก ๕ กลีบ บิตเวียนกัน เส้าเกสร ๕ ครีบ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีออวุลจำนวนมาก

 ฝักออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน ยาว ๗.๕-๑๐ ซม. โคนป่องแล้วค่อย ๆ เรียวไปหาปลาย มีครีบตามยาว ผิวมีขนสีน้ำตาลอ่อนนุ่มคล้ายกำมะหยี่ เมล็ดสีน้ำตาลอมเหลือง รูปไข่หรือกว้าง โค้งเว้า ผิวเรียบ เป็นมันวาว มีพู่ขนสีขาวเป็นมันอย่างเส้นไหมที่ปลาย ขอบบางเป็นครีบ

 กระทุงหมาบ้ามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ในต่างประเทศพบที่อินเดียจนถึงจีนตอนใต้ ไต้หวัน ภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซีย และฟิลิปปินส์

 ใบ ดอก และเปลือกฝักอ่อนต้มแล้วใช้เป็นอาหารได้ มีรสขมเล็กน้อย ใบโขลกใช้พอกฝีและบริเวณอักเสบ รากเป็นยาขับเสมหะ ถ้าใช้มากเกินไปทำให้อาเจียน (Quisumbing, 1951)

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กระทุงหมาบ้า
ชื่อวิทยาศาสตร์
Dregea volubilis (L.f.) Hook.f.
ชื่อสกุล
Dregea
คำระบุชนิด
volubilis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl von
- Hooker, Joseph Dalton
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl von (1741-1783)
- Hooker, Joseph Dalton (1817-1911)
ชื่ออื่น ๆ
กระทงหมาบ้า, คันชุนสุนัขบ้า (กลาง); เครือเขาคลอน (อุบลราชธานี); เครือเขาหมู (เหนือ); ผักง่วนหมู, ต้น
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.วิเชียร จีรวงส์