กระทุงบวบเหลี่ยม

Aristolochia baenzigeri B.Hansen & Phuph.

ไม้เถา เปลือกคล้ายไม้ก๊อก เป็นสันตามยาว ใบเรียงเวียน รูปไข่แกมรูปหัวใจ ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกใกล้โคนต้น ดอกสีแดงหรือแดงเลือดนก วงกลีบรวมติดกันเป็นรูป แตรปากบาน ผลแบบผลแห้งแตก รูปไข่กลับ คล้ายบวบเหลี่ยม

กระทุงบวบเหลี่ยมเป็นไม้เถา เปลือกหนาคล้ายไม้ก๊อกและเป็นสันตามยาว

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่แกมรูปหัวใจ กว้าง ๑๒-๒๒.๕ ซม. ยาว ๑๔-๒๓.๕ ซม. ปลายแหลม โคนเว้ารูปหัวใจ เส้นโคนใบประมาณ ๕ เส้น เส้นแขนงใบข้างละ ๓-๔ เส้น เส้นใบย่อยเห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๗.๕-๑๒.๕ ซม. มีขน

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกใกล้โคนต้น แต่ละช่อมี ๒-๓ ดอก ก้านช่อดอกยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. ดอกสีแดงหรือแดงเลือดนก ก้านดอกยาว ๑.๕-๒ ซม. วงกลีบรวมติดกันเป็นหลอดงอ มีเส้นตามยาว ปลายหลอดบานออกเป็นปากแตร กว้างประมาณ ๘ ซม. ด้านนอกมีเส้นเป็นร่างแหและมีขนสั้นด้านในเกลี้ยงเป็นมัน ภายในหลอดสีเหลืองอ่อน เกสรเพศผู้ ๖ อัน อับเรณูรูปแถบ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๔ มม. เส้าเกสรกว้างประมาณ ๔ มม. ยาวประมาณ ๗ มม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ กว้างประมาณ ๓ มม. ยาว ๒.๕-๓ ซม. มีสันตามยาว ๖ สัน มีขนสั้น มี ๖ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล จำนวนมาก ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๓ แฉก รูปไข่ ปลายมน

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปไข่กลับ โตเต็มที่กว้างได้ถึง ๔ ซม. ยาวได้ถึง ๓๔ ซม. เป็นเหลี่ยม ๖ เหลี่ยมตามยาวคล้ายบวบเหลี่ยม สีเทาอมน้ำตาล เมล็ดรูปไข่ หนา ไม่มีปีก สีน้ำตาลอมเทา กว้างประมาณ ๖ มม. ยาวประมาณ ๑.๑ ซม.

 กระทุงบวบเหลี่ยมเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย พบในป่าดิบทางภาคเหนือ บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๘๐๐-๙๗๐ ม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กระทุงบวบเหลี่ยม
ชื่อวิทยาศาสตร์
Aristolochia baenzigeri B.Hansen & Phuph.
ชื่อสกุล
Aristolochia
คำระบุชนิด
baenzigeri
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Hansen, Bertel
- Phuphathanaphong, Leena
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Hansen, Bertel (1932- )
- Phuphathanaphong, Leena (1936- )
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางลีนา ผู้พัฒนพงศ์