กระทงลาย

Celastrus paniculatus Willd.

ชื่ออื่น ๆ
กระทุงลาย; โชด (กลาง); นางแตก (นครราชสีมา); มะแตก, มะแตกเครือ, มักแตก (เหนือ, ตะวันออกเฉียงเหนือ)
ไม้เถาเนื้อแข็ง ตามกิ่งมีช่องอากาศ ใบเรียงเวียน มักเป็นรูปรี ขอบจักถี่ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่ง ดอกแยกเพศ สีขาวอมเหลือง ผลแบบผลแห้งแตก แก่จัดสีส้มแกมเหลือง เมล็ดมีเยื่อหุ้มสีแดงอมน้ำตาล

 กระทงลายเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง ขึ้นพาดพันต้นไม้อื่นไปได้ไกลถึง ๑๐ ม. เถามีเปลือกขนาดใหญ่ ปริออกจากกันตามยาว ขรุขระเล็กน้อย ตามกิ่งมีช่องอากาศอยู่ทั่วไป

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรี รูปรีแกมรูปขอบขนาน รูปไข่ รูปไข่แกมรูปขอบขนาน รูปไข่กลับ หรือรูปกลม กว้าง ๓-๗ ซม. ยาว ๕-๑๕ ซม. ปลายแหลม มน หรือเว้าเล็กน้อย โคนสอบหรือมน ขอบจักเป็นคลื่นถี่ ๆ เส้นแขนงใบคู่ล่างสุดออกจากโคนใบ แผ่นใบด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนประปรายหรือเกลี้ยงก้านใบยาว ๐.๘-๒.๕ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่ง ยาว ๕-๑๘ ซม. มีขนประปราย ดอกแยกเพศ ขนาดเล็ก สีขาวอมเหลืองมีจำนวนมาก ก้านดอกยาว ๑-๔ มม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ ติดกันคล้ายรูประฆัง มีขนสั้น ๆ กลีบดอก ๕ กลีบ ยาว ๒-๓ มม. จานฐานดอกลักษณะคล้ายรูปถ้วย ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ ๕ อัน และมีเกสรเพศเมียเป็นหมันขนาดเล็กกว่าเกสรเพศผู้ ดอกเพศเมียมีเกสรเพศเมียยาวกว่าเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปกลม มี ๓ ช่อง ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๓ แฉก แต่ละแฉกมักแยกออกเป็น ๒ ง่าม

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๗ มม. ผลแก่สีส้มอมเหลือง แตกตามผนังออกเป็น ๓ ซีก มี ๓-๖ เมล็ด รูปไข่ มีเนื้อสีแดงอมน้ำตาลหุ้มโดยรอบ

 กระทงลายมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นตามที่โล่งในป่าผลัดใบและป่าละเมาะ บนพื้นที่ระดับน้ำทะเลจนถึงสูงประมาณ ๑,๔๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่จีนตอนใต้ อินเดีย พม่า ภูมิภาคอินโดจีน ภูมิภาคมาเลเซีย จนถึงออสเตรเลีย

 น้ำมันจากเมล็ดใช้ตามไฟหรือเคลือบกระดาษกันน้ำซึมเปลือก ใบ ผล และเมล็ดใช้ทำยาได้ (ก่องกานดา ชยามฤต ๒๕๒๘).

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กระทงลาย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Celastrus paniculatus Willd.
ชื่อสกุล
Celastrus
คำระบุชนิด
paniculatus
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Willdenow, Carl Ludwig von
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1765-1812)
ชื่ออื่น ๆ
กระทุงลาย; โชด (กลาง); นางแตก (นครราชสีมา); มะแตก, มะแตกเครือ, มักแตก (เหนือ, ตะวันออกเฉียงเหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.ธวัชชัย สันติสุข