กระถินนา

Xyris indica L.

ชื่ออื่น ๆ
กระถินทุ่ง (ตราด), หญ้ากระเทียม (สระบุรี), หญ้าขี้กลาก (สระบุรี, หนองบัวลำภู), หญ้าบัว (ปราจีนบุรี)
ไม้ล้มลุก ชอบน้ำ ใบรูปใบดาบ เรียงเป็นกระจุกที่โคนต้น ช่อดอกแบบช่อเชิงลดก้านโดด ออกที่ปลายลำต้นกลางกลุ่มใบ ดอกสีเหลือง ผลแบบผลแห้งแตก

กระถินนาเป็นไม้ล้มลุกปีเดียว ใบรูปใบดาบ กว้าง ๓-๖ มม. ยาว ๓-๕ ซม. เรียงเป็นกระจุกที่โคนต้น มีขนาดเล็กคล้ายใบหญ้า

 ช่อดอกแบบช่อเชิงลดก้านโดด ออกที่ปลายลำต้นกลางกลุ่มใบ ดอกสีเหลืองสด ติดอยู่ตรงปลายของช่อดอก มีใบประดับสีน้ำตาลหุ้ม กลีบเลี้ยงมี ๓ กลีบ กลีบข้าง ๒ กลีบ รูปคล้ายเรือและแห้ง ส่วนอีก ๑ กลีบ บางและมีขนาดใหญ่กว่า กลีบดอก ๓ กลีบ ขอบกลีบจักละเอียด มีเกสรเพศผู้สมบูรณ์ ๓ อัน และเป็นหมันอีก ๓ อัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก

 ผลแบบผลแห้งแตก ขนาดเล็ก ติดอยู่รวมกันที่ปลายช่อดอก และจะหลุดร่วงเมื่อแก่เต็มที่

 กระถินนามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคขึ้นตามทุ่งนาหรือที่รกร้าง



 ช่อดอกประกอบด้วยสารประเภท anthraquinone หลายชนิดด้วยกัน สารบริสุทธิ์ที่แยกได้ คือ chrysazin (danthron) หรือ 1,8-dihydroxyanthraquinone (Ruangrungsi and Tantivatana, 1980)

 chrysazin เป็นสารประเภท anthraquinone ที่รู้จักกันแพร่หลาย ได้มีการนำสารชนิดนี้มาใช้เป็นยาระบายและยาถ่ายในม้า วัว และควาย (The Merck Index, 1976) ในยาพื้น บ้านใช้ทั้งต้นเป็นยาบำบัดขี้กลาก (Burkill, 1935)

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กระถินนา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Xyris indica L.
ชื่อสกุล
Xyris
คำระบุชนิด
indica
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl von
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1707-1778)
ชื่ออื่น ๆ
กระถินทุ่ง (ตราด), หญ้ากระเทียม (สระบุรี), หญ้าขี้กลาก (สระบุรี, หนองบัวลำภู), หญ้าบัว (ปราจีนบุรี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.พยอม ตันติวัฒน์