กระต่ายจามขน

Bergia ammanioides Roxb.

ไม้ล้มลุก แตกกิ่งต่ำแต่โค้งชี้ขึ้น ทุกส่วนมีขนปลายเป็นต่อม ใบเรียงตรงข้าม รูปรี รูปใบหอกกลับ หรือรูปขอบขนาน แกมรูปใบหอก ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามง่ามใบดอกเล็ก สีขาว ผลแบบผลแห้งแตก

 กระต่ายจามขนเป็นไม้ล้มลุก สูง ๘-๕๐ ซม. แตกแขนงตามโคนต้น และมีรากที่ข้อล่าง ๆ ทำให้มีลักษณะเอนราบไปกับพื้นและชูยอดตั้งขึ้น มีขนปลายเป็นต่อม

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรี รูปใบหอกกลับ หรือรูปขอบ ขนานแกมรูปใบหอก ขอบจักฟันเลื่อย ปลายจักเป็นตุ่มเล็ก ๆ ปลายแหลม โคนสอบเรียวทำให้ก้านใบสั้นมากหรือไม่มีก้านใบ มีหูใบ ๑ คู่ รูปสามเหลี่ยมปลายแหลม

 ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามง่ามใบ ดอกเล็ก สีขาวเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ มม. กลีบเลี้ยง ๔-๕ กลีบ ปลายกลีบแหลม มีสันกลางกลีบ กลีบดอกบาง มี ๕ กลีบ เกสรเพศผู้จำนวนเท่ากลีบเลี้ยง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๕ แฉก

 ผลแบบผลแห้งแตก มีเมล็ดจำนวนมาก

 กระต่ายจามขนมีเขตกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นตามที่ราบระดับต่ำที่แห้งแล้ง ในต่างประเทศพบในแอฟริกาเขตร้อน ตะวันออกกลาง เอเชียเขตร้อน และออสเตรเลีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กระต่ายจามขน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Bergia ammanioides Roxb.
ชื่อสกุล
Bergia
คำระบุชนิด
ammanioides
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1751-1815)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางสาวอำไพ ยงบุญเกิด