กระต่ายจาม

Centipeda minima (L.) A.Braun & Asch.

ชื่ออื่น ๆ
กระต่ายจันทร์ (กรุงเทพฯ), สาบแร้ง (กลาง), หญ้ากระจาม (สุราษฎร์ธานี), หญ้าจาม (ชุมพร, เชียงใหม่), เหม
ไม้ล้มลุก มีขนทั่วไป ใบเรียงสลับ รูปซ้อน ช่อดอกแบบ ช่อกระจุกแน่น ออกตามง่ามใบ โคนช่อมีใบประดับจำนวนมาก ดอกวงนอกเป็นดอกเพศเมีย สีขาว ดอกวงในเป็นดอกสมบูรณ์เพศ สีเหลือง

กระต่ายจามเป็นไม้ล้มลุก ลำต้นแตกแขนงทอดราบไปตามพื้นดิน ปลายกิ่งมักชูตั้งขึ้นเล็กน้อย หรืออาจชูสูงได้ถึง ๑๕ ซม. มีขนทั่วไป

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปซ้อน กว้าง ๒-๕ มม. ยาว ๐.๕- ๑.๕ ซม. ปลายแหลม โคนสอบ ขอบหยักหยาบ ๆ แผ่นใบด้านล่างมีขนหนาแน่น เส้นใบเห็นไม่ชัดเจน ก้านใบสั้นมากหรือไม่มี

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น ค่อนข้างกลม ออกตามง่ามใบ เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๔ มม. ก้านช่อดอกสั้นมากหรือไม่มี โคนช่อมีใบประดับรูปช้อนขนาดเล็กจำนวนมาก เรียงช้อนประมาณ ๒ ชั้นอยู่โดยรอบฐานรองดอกที่เป็นแผ่นกลมขนาดเล็กและนูนเล็กน้อย ดอกวงนอกเป็นดอกเพศเมีย เล็กมากและมีจำนวนมาก เรียงเป็นวงบนฐานรองดอกล้อมรอบดอกสมบูรณ์เพศซึ่งอยู่วงใน มีขนาดเล็ก และมีจำนวนน้อยกว่าดอกเพศเมียมีกลีบดอกสีขาว โคนติดกันเป็นหลอดเรียว สั้นมากปลายแยก ๒-๓ แฉก รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก ดอกสมบูรณ์เพศมีกลีบดอกสีเหลืองหรือเหลืองอมเขียว โคนกลีบติดกันเป็นหลอดสั้น ปลายแยกเป็น ๔ แฉก รังไข่เล็กเกสรเพศผู้ ๔ อัน

 ผลมักเป็นสี่เหลี่ยม รูปรีหรือเกือบเป็นรูปขอบขนาน ขนาดเล็กมากและมีขน

 กระต่ายจามมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นตามที่โล่งและริมแหล่งน้ำ บนพื้นที่ระดับน้ำทะเลจนถึงสูงประมาณ ๑,๘๐๐ ม. ในต่างประเทศพบในเขตร้อน ของทวีปเอเชีย แอฟริกา และออสเตรเลีย

 มีผู้นำไปใช้ประโยชน์ทางยาแผนโบราณ เช่น จีนใช้ทำยานัตถุ์ ยาลดอาการบวม อย่างไรก็ตาม มีผู้กล่าวถึงพืชชนิดนี้ ในรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ว่ามีพิษด้วย (Perry and Metzger, 1980) นอกจากนี้ ยังพบสารเคมีจำพวก sesquiterpene ๒ ชนิด และ flavonoid อีก ๓ ชนิด มีผลในการยับยั้งและต้านภูมิแพ้ (Wu et al, 1935)

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กระต่ายจาม
ชื่อวิทยาศาสตร์
Centipeda minima (L.) A.Braun & Asch.
ชื่อสกุล
Centipeda
คำระบุชนิด
minima
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl von
- Braun, Alexander Karl Heinrich
- Ascherson, Paul Friedrich August
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl von (1707-1778)
- Braun, Alexander Karl Heinrich (1805-1877)
- Ascherson, Paul Friedrich August (1834-1913)
ชื่ออื่น ๆ
กระต่ายจันทร์ (กรุงเทพฯ), สาบแร้ง (กลาง), หญ้ากระจาม (สุราษฎร์ธานี), หญ้าจาม (ชุมพร, เชียงใหม่), เหม
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์