กระดูกอึ่ง

Dicerma biarticulatum (L.) DC.

ไม้พุ่มเตี้ย แตกกิ่งมาก ใบประกอบแบบขนนกมีสามใบย่อย เรียงสลับ ใบย่อยรูปรี ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่ง ช่อแขนงสั้น ดอกสีแดงสดถึงม่วง รูปดอกถั่วฝักแบน มักมี ๒ ข้อ เมื่อแห้งข้อจะหลุดจากกัน

กระดูกอึ่งชนิดนี้เป็นไม้พุ่มเตี้ยแจ้ แตกกิ่งมากและมักทอดขนานกับพื้นดิน กิ่งค่อนข้างกลม มีขนสั้น ๆ สีเทาอมน้ำตาลอ่อนประปรายหรือหนาแน่น

 ใบประกอบแบบขนนกมีสามใบย่อย เรียงสลับ ก้านใบประกอบยาว ๐.๕-๑ ซม. มีขนสั้นสีเทาถึงน้ำตาลอ่อน หูใบโปร่งแสง กว้าง ๑-๓ มม. ยาว ๓-๕ มม. ปลายแยกเป็น ๓ แฉก มีขนสั้น ใบย่อยรูปเรียวแคบ รูปไข่กลับ รูปไข่ถึงรูปรี แต่ละใบขนาดใกล้เคียงกัน หรือใบย่อยใบกลางใหญ่กว่าใบย่อยคู่ข้างเล็กน้อย กว้าง ๕-๗ มม. ยาว ๑.๕-๒ ซม. ปลายมนมีติ่ง โคนสอบ แผ่นใบหนา ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนประปรายเส้นแขนงใบบางเห็นไม่ชัด ก้านใบย่อยสั้น

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่ง ยาว ๑๐-๑๕ ซม. ช่อแขนงสั้น ดอกเล็ก รูปดอกถั่ว สีแดงสดถึงม่วงกลีบเลี้ยงยาว ๓-๔ มม. โคนติดกันเป็นหลอดสั้น ๆ ปลายแยกเป็น ๔ แฉก แฉกล่างสุดยาวกว่า ๓ แฉกที่เหลือ มีขนสีเทาถึงน้ำตาลอ่อน กลีบดอก ๕ กลีบ กลีบกลางรูปรี กว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๖-๘ มม. ปลายหยักตื้น ๆ ถึงมนกลมโคนสอบ เกสรเพศผู้ ๑๐ อัน ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเป็นแผ่นรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๒ เม็ด

 ฝักแบน กว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๑-๑.๒ ซม. บางครั้ง ยาวเพียง ๕ มม. เป็นข้อระหว่างเมล็ด มักมี ๒ ข้อ เมื่อแห้งแต่ละข้อจะหลุดออกจากกัน มีขนสีเทาถึงน้ำตาลอ่อน เมล็ดเล็กรูปไต

 กระดูกอึ่งชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันตกเฉียงใต้ขึ้นตามที่โล่ง ในป่าเบญจพรรณที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑๐๐-๔๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลประมาณเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ภูมิภาคอินโดจีน ถึงออสเตรเลีย

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กระดูกอึ่ง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Dicerma biarticulatum (L.) DC.
ชื่อสกุล
Dicerma
คำระบุชนิด
biarticulatum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl von
- Candolle, Augustin Pyramus de
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl von (1707-1778)
- Candolle, Augustin Pyramus de (1778-1841)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ชวลิต นิยมธรรม