กระดุมใบใหญ่

Spermacoce latifolia Aubl.

ชื่ออื่น ๆ
หญ้าเขมรใหญ่
ไม้ล้มลุก ลำต้นเป็นสันสี่เหลี่ยมตามยาวใบเรียงตรงข้ามรูปไข่กลับหรือรูปรี มีหูใบระหว่างก้านใบ ช่อดอกแบบช่อกระจุกออกตามง่ามใบ ดอกรูปกรวย สีฟ้าอ่อนหรือชมพูอ่อนแล้วเปลี่ยนเป็นสีขาว ผลแบบผลแห้งแตก

กระดุมใบใหญ่เป็นไม้ล้มลุกสองปี ลำต้นทอดแผ่ไปตามพื้นดิน ชูยอดขึ้น ยาว ๑๐-๖๐ ซม. ลำต้นเป็นสี่เหลี่ยม ตามเหลี่ยมแผ่เป็นปีก เกลี้ยงหรือมีขนสั้นห่าง ๆ ส่วนที่แตะพื้นจะแตกรากและยอดเป็นต้นใหม่ได้

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่กลับหรือรูปรี กว้าง ๒-๓.๕ ซม. ยาว ๔-๗.๕ ซม. แผ่นใบมีขนประปรายทั้ง ๒ ด้าน บางท้องที่ลำต้นและขอบใบเป็นสีแดง เส้นแขนงใบเห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาว ๑-๓ มม. หูใบระหว่างก้านใบสั้นมาก โคนเป็นแผ่นปลายแยกเป็นเส้น ๕-๙ เส้น แต่ละเส้นยาว ๒-๔ มม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามง่ามใบ ดอกเมื่อแรกบานสีฟ้าอ่อนหรือชมพูอ่อน ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีขาว กลีบเลี้ยงโคนติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๓ มม. ปลายแยก ๔ แฉก ยาวประมาณ ๒ มม. มีขนทั่วไป กลีบดอกโคนติดกันเป็นหลอดรูปกรวย ยาวประมาณ ๕ มม. ปลายแยกเป็น ๔ แฉก รูปสามเหลี่ยม กว้างและยาวประมาณ ๒ มม. เกสรเพศผู้ ๔ อัน รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด

 ผลแบบผลแห้งแตก โดยแตกจากบนลงล่าง เมล็ดสีน้ำตาลอมเหลือง รูปรี กว้าง ๑-๒ มม. ยาว ๒-๓ มม.

 กระดุมใบใหญ่เป็นพรรณไม้พื้นเมืองของอเมริกาเขตร้อนปัจจุบันแพร่กระจายไปในเขตร้อนทั่วโลก ในประเทศไทยเป็นวัชพืชที่พบมากในสวนยางพารา.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กระดุมใบใหญ่
ชื่อวิทยาศาสตร์
Spermacoce latifolia Aubl.
ชื่อสกุล
Spermacoce
คำระบุชนิด
latifolia
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Aublet, Jean Baptiste Christophore Fusée
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1720-1778)
ชื่ออื่น ๆ
หญ้าเขมรใหญ่
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางสาวอำไพ ยงบุญเกิด