กระดุมพระอินทร์

Trias intermedia Seidenf. & Smitinand

ชื่ออื่น ๆ
เพชรพระอินทร์
กล้วยไม้อิงอาศัย เจริญทางด้านข้าง หัวเทียมกลมแป้น คล้ายกระดุม ใบออกที่ยอด มีเพียง ๑ ใบ ช่อดอกออกจากโคนหัว มีดอกเดียว สีเหลืองนวล และมีสีน้ำตาลอมแดงตามเส้นกลีบ

 กระดุมพระอินทร์เป็นกล้วยไม้อิงอาศัย เจริญทางด้านข้าง มักขึ้นแผ่เป็นกลุ่มตามเปลือกไม้ หัวเทียมกลมแป้น สีเขียวหรือเขียวอมน้ำตาล เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๖-๑ ซม. มี ๑ ปล้อง ผิวเรียบแต่จะย่นในฤดูแล้ง เรียงตัวค่อนข้างชิดกัน ทุกข้อบนเหง้าที่คล้ายเส้นลวด เส้นผ่านศูนย์กลางเหง้า ๑-๒ มม.

 ใบออกที่ยอดหัวเทียม มีเพียง ๑ ใบ รูปขอบขนานแกมรี กว้าง ๐.๗-๑ ซม. ยาว ๐.๘-๑.๒ ซม. ปลายมนหรือหยักเว้าตื้น โคนมนหรือเว้าคล้ายปลายใบ แผ่นใบอวบหนา เป็นร่องตามแนวเส้นกลางใบ

 ช่อดอกออกจากโคนหัวเทียม มี ๑ ดอก ก้านช่อรวมทั้งก้านดอกยาว ๑-๑.๕ ซม. ดอกสีเหลืองนวล เส้นผ่านศูนย์กลาง ๕-๘ มม. มีสีน้ำตาลอมแดงตามเส้นกลีบ กลีบเลี้ยงทั้ง ๓ กลีบคล้ายกันและใหญ่กว่ากลีบดอก รูปไข่ กว้างและยาวประมาณ ๓ มม. ปลายมน มีติ่งแหลม กลีบดอกด้าน ข้างรูปขอบขนาน ปลายมน กว้างและยาวประมาณ ๒ มม. กลีบปากอยู่ทางด้านล่าง รูปลิ้น ยาว ๒-๓ มม. หูกลีบปากเป็นติ่งสามเหลี่ยมปลายโค้งไปทางด้านหน้า โคนกลีบปากยึดติดกับปลายคางเส้าเกสรแบบบานพับ เส้าเกสรสูงประมาณ ๒ มม. โคนยึดเป็นคาง ฝาปิดกลุ่มเรณูมีรยางค์ ๒ ข้างคล้ายเขี้ยวโค้งไปทางด้านหน้า กลุ่มเรณูรูปรี มี ๔ กลุ่ม เรียงตัวเป็นคู่รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ยอดเกสรเพศเมียเป็นแอ่งทางด้านหน้าเส้าเกสร

 กระดุมพระอินทร์เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกเฉียงใต้

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กระดุมพระอินทร์
ชื่อวิทยาศาสตร์
Trias intermedia Seidenf. & Smitinand
ชื่อสกุล
Trias
คำระบุชนิด
intermedia
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Seidenfaden, Gunna
- Smitinand, Tem
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Seidenfaden, Gunna (1908- )
- Smitinand, Tem (1920-1994)
ชื่ออื่น ๆ
เพชรพระอินทร์
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.อบฉันท์ ไทยทอง