กระดุมผี

Glochidion rubrum Blume

ชื่ออื่น ๆ
กระดุมพี, ขัดนะ, ชุมเส็ด, นกนอน, มะรวด (ใต้); ตานา (หนองคาย)
ไม้พุ่มหรือไม้ต้น กิ่งห้อยลง ใบเรียงสลับระนาบเดียว รูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ช่อดอกแบบช่อกระจุกหรือเป็นช่อสั้นออกตามง่ามใบ ดอกแยกเพศร่วมต้น สีเหลืองหรือสีส้ม ผลแบบผลแห้งแตก รูปกลมแป้น มี ๖ พู ผลสุกสีแดง

กระดุมผีเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงประมาณ ๕ ม. เปลือกสีน้ำตาลอมเทา เรียบหรือเป็นสะเก็ด กิ่งห้อยย้อยลง กิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนนุ่มละเอียดสั้น ๆ แต่จะร่วงไปเมื่อถึงแก่

 ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปขอบขนานหรือรูปใบหอก กว้าง ๑.๕-๒.๕ ซม. ยาว ๓-๕ ซม. ปลายเรียวแหลมโคนมนหรือแหลม เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๘ เส้น แผ่นใบด้านล่างสีอ่อนกว่าด้านบน มีขนประปรายโดยเฉพาะตามเส้นแขนงใบก้านใบสั้นมาก

 ดอกเล็ก แยกเพศร่วมต้น สีเหลืองหรือส้ม ออกเป็นกระจุกหรือเป็นช่อสั้น ๆ ตามง่ามใบ ดอกเพศผู้มีกลีบรวม ๖ กลีบ แต่ละกลีบยาวประมาณ ๒ มม. ขอบกลีบเรียงเกยซ้อนกัน โคนติดกันเป็นรูปถ้วย เกสรเพศผู้ ๓ อัน ก้านดอกยาวประมาณ ๑ ซม. ดอกเพศเมียมีจำนวนกลีบรวมและขนาดเท่ากันกับดอกเพศผู้ แต่ก้านดอกสั้นมาก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบมีขน มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๓ แฉก

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปกลมแป้น เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ ซม. มี ๖ พู เปลือกแข็ง เมื่อสุกสีแดง เมล็ดสีน้ำตาล

 กระดุมที่มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคพบมากทางภาคใต้ ขึ้นทั่วไปในป่าดิบ บนพื้นที่ระดับน้ำทะเลจนถึงสูงประมาณ ๓๕๐ ม. ออกดอกระหว่างเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม ผลสุกระหว่างเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน ในต่างประเทศพบที่พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย

 ในชวาใช้เป็นยาขับเสมหะ (Burkill, 1935)

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กระดุมผี
ชื่อวิทยาศาสตร์
Glochidion rubrum Blume
ชื่อสกุล
Glochidion
คำระบุชนิด
rubrum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Blume, Carl (Karl) Ludwig von
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1796-1862)
ชื่ออื่น ๆ
กระดุมพี, ขัดนะ, ชุมเส็ด, นกนอน, มะรวด (ใต้); ตานา (หนองคาย)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ชวลิต นิยมธรรม