กระดุมทองเลื้อย

Wedelia trilobata (L.) Hitchc.

ไม้ล้มลุก ต้นทอดนอน ใบเรียงตรงข้าม ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น ออกตามง่ามใบ ดอกสีเหลือง ดอกวงนอกรูปลิ้นเป็นดอกเพศเมีย ดอกวงในเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน รูปสามเหลี่ยม

กระดุมทองเลื้อยเป็นไม้ล้มลุก ลำต้นแตกแขนงทอดราบไปตามพื้นดิน มีขนประปราย ปลายกิ่งมักชูตั้งขึ้น สูงได้ถึง ๕๐ ซม.

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรี กว้างประมาณ ๒.๕ ซม. ยาวประมาณ ๕.๕ ซม. ปลายแหลม โคนสอบ ขอบจักเล็กน้อยมีจักเป็นรูปสามเหลี่ยมกลางแผ่นใบทั้ง ๒ ข้าง เส้นโคนใบข้างละ ๓ เส้น เหนือขึ้นไปมีเส้นแขนงใบข้างละ ๔ เส้น ก้านใบสั้นหรือไม่มี

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น ออกตามง่ามใบใกล้ยอดกว้างประมาณ ๒ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๔-๖ ซม. โคนช่อมีใบประดับรูปรี เรียงซ้อนกัน ๒ ชั้น ชั้นละ ๔-๕ ใบ ชั้นนอกโคนติดกัน ชั้นในเรียงสลับกับชั้นนอก อยู่รอบฐานดอก ที่ขอบใบประดับมีขน ใบประดับชั้นนอกจะใหญ่ขึ้นเมื่อดอกโรย ดอกสีเหลือง ดอกวงนอกเป็นดอกเพศเมีย มี ๘-๑๐ ดอก กลีบดอกติดกันเป็นแผ่น กว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๐.๘-๑ ซม. ปลายแยกเป็น ๓ แฉก โคนติดกันเป็นหลอดสั้นมาก ดอกวงในเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ขนาดเล็กกว่าดอกวงนอกและมีจำนวนมากกว่า โคนกลีบดอกติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ที่ขอบแฉกมีขน รอบดอกวงในมีใบประดับบางใสรูปเรือปลายแหลมแทรกอยู่ เกสรเพศผู้ ๕ อัน สีน้ำตาลดำรังไข่อยู่ใต้วงกลีบ ขนาดเล็กและเป็นหมัน ยอดเกสรเพศเมียแยก เป็น ๒ แฉก

 ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน เกิดจากดอกวงนอก ยาวประมาณ ๕ มม. รูปไข่กลับ ปลายผลมีเยื่อสีขาว รูปถ้วย โคนที่ติดกันกับฐานเรียวแหลมเป็นรูปสามเหลี่ยม มีเนื้อนุ่มสีขาวหุ้มและขรุขระ เมล็ดเล็ก สีดำ เป็นมัน รูปสามเหลี่ยมปลายแหลมยาวประมาณ ๔ มม.

 กระดุมทองเลื้อยเป็นพรรณไม้พื้นเมืองของอเมริกาเขตร้อน นำเข้ามาปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป ขยายพันธุ์โดยการปักชำ

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กระดุมทองเลื้อย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Wedelia trilobata (L.) Hitchc.
ชื่อสกุล
Wedelia
คำระบุชนิด
trilobata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl von
- Hitchcock, Albert Spear
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl von (1707-1778)
- Hitchcock, Albert Spear (1865-1935)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ.จิรายุพิน จันทรประสงค์