กระชับ

Xanthium strumarium L.

ชื่ออื่น ๆ
เกี๋ยงนา, ขี้ครอก (ราชบุรี), ขี้อ้น (เหนือ); ขี้อันดอน (ขอนแก่น, เลย)
ไม้ล้มลุก ใบเรียงสลับ รูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม ขอบหยักไม่เป็นระเบียบ ดอกแยกเพศร่วมช่อ ดอกเพศผู้อยู่ปลายช่อ ดอกเพศเมียอยู่โคนช่อ ผลมีหนามปลายงอเป็นขอ

กระชับเป็นไม้ล้มลุกปีเดียว ลำต้นตรง สูงได้ถึง ๑.๕ ม. แตกกิ่งประปราย

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม กว้างและ ยาวประมาณ ๑๕ ซม. โคนเว้าเล็กน้อย ขอบเรียบหรือหยักเว้า

 ช่อดอกออกตามง่ามใบ ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียอยู่ในช่อดอกเดียวกันแต่แยกกันอยู่ ดอกเพศผู้เล็ก อยู่ชิดกันเป็นกระจุกกลมตรงปลายช่อ ดอกเพศเมียอยู่ชิดกันเป็นคู่ ๆ ในกระเปาะกลมรี ๒-๑๒ กระเปาะทางตอนล่างของช่อกระเปาะยาว ๒-๓ ซม. เปลือกมีหนาม ปลายงอเป็นขอ ที่ปลายกระเปาะมีหนามแข็ง ๒ อันโค้งงอเข้าหากัน รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด แต่ละกระเปาะมี ๒ ผล ผลละ ๑ เมล็ด เมล็ดแก่สีดำ

 กระชับเป็นวัชพืชที่พบทั่วไปในเขตร้อนตามที่ลุ่มริมน้ำในเมล็ดมี Xanthostrumarin glycoside ซึ่งเป็นพิษต่อสัตว์สารนี้จะคงอยู่จนถึงระยะที่เมล็ดงอกเป็นต้นอ่อนมีใบเลี้ยงติดอยู่เมื่อใบแท้เริ่มเจริญเติบโตไกลโคไซด์จะลดลงอย่างรวดเร็ว สารพิษนี้ไม่สลายตัวแม้จะตากแดดให้แห้งแล้วก็ตาม (Kingsbury, 1964) นอกจากสารไกลโคไซด์แล้ว ในเมล็ดยังมีกรดออกซาลิก วิตามินซี


(Chopra, Nayar and Chopra: 1956) เรซิน และน้ำมันซึ่งประกอบด้วย oleic acid และ linoleic acid ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการใช้ส่วนต่าง ๆ ของกระชับรักษาโรคหลายชนิด (Perry and Metzger, 1980) ยอดอ่อนและต้นอ่อนที่มีใบแท้สมบูรณ์เมื่อทำให้สุกแล้วใช้กินเป็นผักได้ แป้งจากเมล็ดใช้ทำเส้นก๋วยเตี๋ยว (Tanaka, 1976) อย่างไรก็ตาม การใช้เป็นอาหารหรือยาควรใช้ด้วยความระมัดระวัง เพราะบางส่วนของกระชับที่มีสารพิษอยู่ด้วย

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กระชับ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Xanthium strumarium L.
ชื่อสกุล
Xanthium
คำระบุชนิด
strumarium
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl von
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1707-1778)
ชื่ออื่น ๆ
เกี๋ยงนา, ขี้ครอก (ราชบุรี), ขี้อ้น (เหนือ); ขี้อันดอน (ขอนแก่น, เลย)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ยิ่งยง ไพสุขศานติวัฒนา