กง

Hanguana malayana (Jack) Merr.

ชื่ออื่น ๆ
ปรง (ปัตตานี)
ไม้ล้มลุก ชอบน้ำ ใบรูปใบหอก โคนก้านใบแผ่เป็นกาบหุ้มลำต้น ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง มีกาบหุ้มตามโคนช่อดอกเล็กสีเหลืองอ่อน เขียวอ่อน หรือน้ำตาลอ่อน แยกเพศผลแบบผลเมล็ดเดียวแข็ง รูปกระสวย

กงเป็นไม้ล้มลุกสองปี สูง ๐.๕-๒ ม. มีเหง้า ต้นอ่อนมีขนทั่วไป เมื่อต้นแก่ขนจะร่วง

 ใบเดี่ยว รูปใบหอก กว้าง ๑.๕-๑๕ ซม. ยาว ๐.๒-๑.๒ ม. ปลายเรียวแหลม โคนสอบ แผ่นใบหนา เส้นแขนงใบแบบขนาน เรียงชิดกันมาก ระหว่างเส้นแขนงใบมีเส้นขั้นบันไดเชื่อมอยู่ โคนก้านใบแผ่เป็นกาบหุ้มลำต้น ก้านใบล่างสุดจะยาวมาก และค่อย ๆ สั้นลงจนถึงใบยอดสุดเกือบไม่เห็นก้านใบ

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบตอนปลายยอด ยาว ๐.๒-๑.๒ ม. ก้านช่อดอกเป็นปล้อง มีกาบหุ้ม


แต่ละปล้องมีช่อดอกย่อยแยกออกหลายแขนง กาบหุ้มข้อกาบล่าง ๆ ใหญ่กว่ากาบทางปลายช่อ ดอกเล็ก ออกเดี่ยวหรือเป็นกระจุก สีเหลืองอ่อน เขียวอ่อน หรือน้ำตาลอ่อน โคนก้านดอกหรือกลุ่มดอกมีกาบเล็กบางหุ้ม กลีบรวม ๖ กลีบ เรียงเป็น ๒ ชั้น ชั้นละ ๓ กลีบ กลีบชั้นนอกสั้นกว่ากลีบชั้นในเล็กน้อย ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ ๖ อัน ติดอยู่ที่ผนังโคนกลีบดอกด้านในมีรังไข่ไม่สมบูรณ์ ดอกเพศเมียมีเกสรเพศผู้เป็นหมัน ๒ อัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปป้อม ๆ มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ยอดเกสรเพศเมียมี ๓ แฉก

 ผลแบบผลเมล็ดเดี่ยวแข็ง รูปกระสวย ยาวประมาณ ๒ ซม. ผิวเรียบเป็นมัน มี ๑ เมล็ด

 กงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ ขึ้นหนาแน่นตามชายป่าพรุ ป่าบึงน้ำจืด ชายลำห้วย จนถึงชายป่าดิบบนพื้นที่ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึงสูงประมาณ ๗๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่ศรีลังกา กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

 หากขึ้นอยู่ในน้ำหรือที่น้ำท่วมถึงจะเป็นที่อาศัยตลอดจนเป็นอาหารของสัตว์น้ำนานาชนิด

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Hanguana malayana (Jack) Merr.
ชื่อสกุล
Hanguana
คำระบุชนิด
malayana
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Jack, William
- Merrill, Elmer Drew
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Jack, William (1795-1822)
- Merrill, Elmer Drew (1876-1956)
ชื่ออื่น ๆ
ปรง (ปัตตานี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.จำลอง เพ็งคล้าย